ส่วนตัวอุโบสถมีต้นแบบมาจากวัดเชียงทอง ประเทศลาว แต่มีความกว้างมากกว่า 1 เท่า และความยาวมากกว่า 2 เท่า เสาแต่ละต้นลง ลวดลายด้วยมือ โดยรอบนอกเป็นลายดอกบัวและสัตว์ทั้งหลายตามคติบัว 4 เหล่า หัวใจหลักของการทำพุทธศิลป์ คือ การนำเสนอ งานศิลปะที่เกิดจากความสงบ ความเพียร ความอดทน และวิสัยทัศน์ งานแต่ละชิ้นต้องคิดจากความคิดอันวิจิตรและขบคิดมาก่อนทั้งสิ้น อย่างแนวคิดการจำลองให้วัดเป็นเขาพระสุเมรุ ตรงกลางของพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของพระประธาน แต่เดิมที่คล้ายกับพระพุทธชินราช ในจังหวัดพิษณุโลก แต่มีการนำเพียงส่วนรัศมีออกไป เพื่อให้แลดูกลมกลืนกันยิ่งขึ้น พร้อมกับได้ทำฉากหลังเป็นต้นโพธิ์ โดยเบื้องบนติดด้วยแผ่นพระทอง
ส่วนการสร้างวัดนั้น ท่านพระอาจารย์บุญมากเป็นผู้ริเริ่ม ท่านเป็นคนฝั่งลาวจำปาสักเข้ามาเผยแพร่อบรมสมาธิทางฝั่งไท และได้ปักกลด ที่ภูพร้าวแห่งนี้ในปี 2497-2498 ต่อมาปี 2516ท่านได้ขอบิณฑบาตพื้นที่ให้เป็นวัดจากทางหน่วยทหารและทางราชการอ.พิบูลมังสาหาร ทางอำเภอจึงให้ตั้งชื่อวัดว่า วัดสิรินธรวราราม หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์บุญมากต้องกลับประเทศลาว ทิ้งให้วัดร้างหลายสิบปี จนกระทั่งปี 2542 พระครูกมล ลูกศิษย์ของท่านได้ค้นพบวัดอีกครั้งและบูรณะให้กลับมาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้ดังเดิม หลังจาก พระครูกมลละสังขารไปในปี 2549 พระครูปัญญาก็เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและสานต่องานสร้างวัดต่อไป อย่างต้นกัลปพฤกษ์ เรืองแสงเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปีที่แล้ว ส่วนพระอุโบสถยังมีการแต่งเติมอยู่เรื่อยๆ