ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเพิ่มเข้ามาในโครงการนมโรงเรียนมากขึ้นแต่ด้วยปริมาณความต้องการในการบริโภคนมเท่าเดิม จำนวนสิทธิการจำหน่ายที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับไม่สอดคล้องกับกำลังการผลิตที่มีอยู่ ผู้ประกอบการเกิดความเสียหาย เกณฑ์ในการจัดสรรสิทธิที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพื่อเป็นการลดความเสียหายและปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ควรนำมาพิจารณาในการกำหนดเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ โดยการนำรูปแบบของมูลค่าความเต็มใจยอมรับ (Willingness to Accept หรือ WTA) มาประยุกต์ใช้
การศึกษาครั้งนี้ใช้แบบสอบถามแบบปลายปิดและปลายเปิดในการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ประกอบที่เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์เพียงอย่างเดียวและผู้ประกอบการที่ผลิตทั้งนมพาสเจอร์ไรส์และนม ยู.เอช.ที. จำนวนทั้งสิ้น 77 ราย โดยแบบสอบถามดังกล่าวจะใช้วิธีการสมมติเหตุการณ์ให้ประเมินมูลค่า (Contingent Valuation Method หรือ CVM) มาใช้ในการหามูลค่าความเต็มใจยอมรับของผู้ประกอบการ แล้วนำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามมาวิเคราะห์ปัจจัยที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ผลด้วยการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุ (Multiple Regression Analysis)
ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษานี้ พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อมูลค่าความเต็มใจยอมรับ (WTA) ประกอบด้วย ระยะทางที่ผู้ประกอบการใช้ในการขนส่งนม (Distance) สิทธิการจำหน่าย (Quota) กำลังการผลิต (Capacity) และรายได้ (Income) จากแบบจำลองนี้ทำให้ได้ปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาประกอบเพิ่มเติมในการกำหนดเกณฑ์การจัดสรรสิทธิโครงการนมโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วย กำลังการผลิต และระยะทางในการจัดส่งนมของผู้ประกอบการ