แข่งเรือคนเป็นกีฬาพื้นเมืองของภาคกลาง พบว่ามีการเล่นแข่งเรือคนกันแล้วในสมัยรัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๐ แข่งเรือคนมีการเล่นกันแพร่หลายแทบทุกจังหวัด เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา และ สุพรรณบุรี บางแห่งมีการเล่นแบบเดียวกันแต่เรียกชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น จังหวัดอยุธยา เรียกว่า “แข่งเรือกบ” จังหวัดสุพรรณบุรี เรียกว่า “แข่งเรือโดยวิธีซ่อนพาย” จังหวัดฉะเชิงเทรา เรียกว่า “ซ่อนเรือ” เป็นต้น การเล่นแข่งเรือคนเป็นการเล่นเลียนแบบการแข่งเรือใช้น้ำโดยใช้คนนั่งต่อๆกันเป็นแถวตอน ๒ แถวขนานกัน สมมติว่าเป็นลำเรือแต่ละแถวจะผลัดกันซ่อนสิ่งของที่ตกลงกันไว้ที่ผู้เล่นในแถวแล้วผลัดกันทายแถวใดทายถูกจะได้เลื่อนคนท้ายขึ้นไปนั่งข้างหน้า แถวใดถึงเส้นชัยก่อนจะชนะการเล่นแข่งเรือคนเป็นการเล่นของคนหนุ่มสาวสมัยก่อน เล่นกันในเทศกาลงานรื่นเริงต่างๆ เช่น วัน ตรุษสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ และวันที่มีงานรื่นเริงประจำปี เป็นต้น ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมเล่นกันแล้ว จะมีการเล่นอยู่บ้างในเขตชนบทซึ่งกลายเป็นกีฬาที่เล่นกันในหมู่เด็กๆเล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ผู้ใหญ่ไม่นิยมเล่นกันแล้ว
ผู้เล่น
เล่นได้ทุกเพศทุกวัย สมัยก่อนมักจะเล่นกันในหมู่คนหนุ่มสาว โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายละเท่าๆกัน จำนวนผู้เล่นแต่ละฝ่ายไม่ควรน้อยกว่าฝ่ายละ ๕ – ๗ คน บางแห่งนิยมจัดให้ผู้ชายเป็นฝ่ายหนึ่ง หญิงเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง
อุปกรณ์การเล่น
ไม้สั้นๆ ๒ อัน ขนาดเท่าๆกันพอใช้มือกำได้มิด จะให้เด่นชัดควรทาสีไว้ที่ไม้ด้วย เช่น ทาสีแดง สีเหลือง หรือสีเขียว เป็นต้น เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นไม้ของกลางจริง
สถานที่เล่น
บริเวณลานกว้าง เช่น ลานบ้าน ลานวัด หรือบริเวณลานกว้างใต้ร่มไม้ กำหนดเส้นยาวไว้ที่พื้นดินเป็นเส้นเริ่ม จากเส้นเริ่มเป็นระยะห่างประมาณ ๑๐ – ๒๐ เมตร ตามแต่จะตกลงกันไว้ ให้เขียนเส้นยาวไว้ที่พื้นเป็นเส้นชัย
วิธีเล่น
๑. ผู้เล่นแต่ละฝ่ายคัดเลือกหัวหน้าของแต่ละฝ่ายมาตกลงกันเกี่ยวกับลำดับการเล่นว่าฝ่ายใดจะได้เล่นก่อน เมื่อทราบแล้วให้หัวหน้าของแต่ละฝ่ายจัดผู้เล่นของตนเข้าแถวตอนเรียงหนึ่ง ให้คนหัวแถวอยู่ที่เส้นเริ่มหันหน้าไปทางเส้นชัย ระยะระหว่างแถวของแต่ละฝ่ายห่างกันประมาณ ๒ – ๓ เมตร แล้วหัวหน้าของแต่ละฝ่ายจัดผู้เล่นของตนให้นั่งลงเหยียดเท้าต่อกันเป็นแถวตอนให้ปลายเท้าของคนอยู่หัวแถวอยู่ที่เส้นเริ่มต้นพอดี ทั้งสองแถวจะต้องจัดให้ผู้เล่นในแถวของตนนั่งในลักษณะติดกัน จะได้เป็นแถวตอน ๒ แถว สมมติว่าเป็นเรือ ๒ ลำ โดยมีผู้เล่นที่เป็นหัวหน้าของแต่ละแถวยืนกำกับอยู่ที่แถวของตนสมมติว่าเป็นนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือ
๒. เมื่อกรรมการให้สัญญาณเริ่มเล่น ให้นายเรือของแถวที่ได้สิทธิเล่นก่อนถือไว้ในมือ เดินไปซ่อนไม้ในมือของตนไว้ที่มือผู้เล่นในแถวของตนคนใดคนหนึ่ง การซ่อนจะต้องพยายามแสดงอาการหลอกไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ว่าซ่อนไว้ที่ผู้เล่นคนใด เมื่อซ่อนเสร็จแล้วให้มายืนอยู่ที่หัวแถวของตน จากนั้นจะให้นายเรือของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มาทายว่าไม้นั้นอยู่ที่ผู้เล่นคนใด โดยนายเรือของฝ่ายตรงข้ามสามารถเดินตรวจดูได้ ถ้านายเรือของฝ่ายตรงข้ามทายผิด จะถือว่าฝ่ายซ่อนไม้ชนะ ให้ผู้เล่นคนสุดท้ายของแถวฝ่ายซ่อนไม้ลุกขึ้นไปนั่งต่อแถวข้างหน้าในแนวตรงกับคนหัวแถว แต่ถ้าฝ่ายทายสามารถทายถูก ก็จะได้สิทธิให้คนสุดท้ายของแถวฝ่ายทายลุกขึ้นไปนั่งต่อหัวแถวเช่นกัน
๓. ให้ผลัดกันซ่อนและผลัดกันทายฝ่ายละครั้ง เรื่อยไปจนกว่าฝ่ายใดจะต่อแถวของตนไปถึงเส้นชัยก่อน ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ชนะ
กติกา
๑. การนั่งเหยียดเท้าต่อแถวต้องต่อให้ติดชิดกัน จะเว้นระยะห่างไม่ได้และการนั่งจะต้องนั่งเท้าติดกัน
๒. เมื่อมีการทายทุกครั้ง ผู้เล่นที่ถูกทายว่ามีไม้ในมือจะต้องลุกขึ้นยืนแบมือให้ดู ถ้าผิดตัวให้คนที่มีไม้อยู่ลุกขึ้นแบมือให้ดูไม้ที่อยู่กับตัวด้วย เพื่อความยุติธรรม
๓. ฝ่ายใดฝ่าฝืนกติกาจะถือว่าเสียสิทธิ์ในการเล่นครั้งนั้น ต้องให้ฝ่ายตรงข้ามที่มิได้ทำผิดได้สิทธิเดินขึ้นไปนั่งต่อแถวข้างหน้าฟรี ๑ คน
๔. ให้มีกรรมการอย่างน้อย ๑ คน ทำหน้าที่ควบคุมการเล่นและตัดสินผลการแข่งขัน
๑๒. แข่งว่าว
ความเป็นมา
แข่งว่าวเป็นกีฬาพื้นเมืองเก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งที่เล่นกันโดยทั่วไปในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลาง เช่น กาญจนบุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา เป็นต้น กีฬาแข่งว่าวเป็นลักษณะการเล่นแข่งขันว่าวอีกลักษณะหนึ่งที่มีลักษณะและวิธีการแตกต่างออกไปจากการแข่งขันว่าวโดยทั่วๆไป ซึ่งมักจะมีการแข่งว่าวเพื่อความสูงและการแข่งว่าวมีเสียง แต่การแข่งว่าวของจังหวัดสุพรรณบุรีจะมีลักษณะเป็นการแข่งขันชักว่าวให้มีขึ้นในระยะทางที่กำหนด และด้วยความยาวของด้ายหรือเชือกที่ใช้ชักที่จำกัดด้วย จึงเป็นการเล่นแข่งขันอีกลักษณะหนึ่งที่ชาวบ้านสมัยก่อนนิยมเล่นกันอย่างสนุกสนานโดยทั่วไป และมักจะจัดให้มีการแข่งขันกันในโอกาสงานรื่นเริงต่างๆด้วย กีฬาว่าวเป็นกีฬาพื้นเมืองเก่าแก่ที่มีการเล่นสืบทอดมาแต่โบราณ มีประวัติความเป็นมามากมาย
จากหลักฐานพบว่ามีการเล่นว่าวมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย และเป็นที่นิยมสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือพงศาวดารเหนือเกี่ยวกับการเล่นของเด็กในสมัยนั้นว่า “…แลพระยาร่วงขณะนั้นคะนองนักมักเล่นเบี้ยและเล่นว่าว ไม่ถือตัวว่าเป็นท้าวเป็นพยา…”
ปัจจุบันกีฬาว่าวเป็นกีฬาที่มีกฏระเบียบกติกาเคร่งครัด มีการแข่งขันหลายประเภท งการแข่งขันเพื่อความสนุกสนานและการแข่งขันในลักษณะว่าวพนัน มีรูปแบบที่เป็นกีฬาสากลไปมากแล้ว ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะกีฬาแข่งว่าวของภาคกลางที่ยังมีลักษณะเป็นกีฬาพื้นเมืองอยู่เท่านั้น ปัจจุบันการแข่งว่าวในลักษณะง่ายๆแบบพื้นเมืองของชาวภาคกลางไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันแล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงและพัฒนาเป็นการแข่งว่าวในลักษณะกีฬาสากล เช่น ว่าวพนันจุฬากับปักเป้าไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังพบการเล่นว่าวเพื่อเป็นการผ่อนคลาย เป็นกีฬาเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน