ไทยติดอันดับ 2 คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดในโลก รองจากนามิเบีย
เว็บไซต์ Live Science เปิดเผยอันดับประเทศที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดในโลก พบว่า นามิเบียครองแชมป์ ส่วนประเทศไทยก็ไม่ได้น้อยหน้า ครองอันดับ 2 ตามมาติด ๆ สะท้อนปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ควรแก้ไข
โดยอันดับดังกล่าวมาจากการเก็บสถิติของสถาบันวิจัยด้านการคมนาคม มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ร่วมกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลก มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 18 คน ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี แต่สำหรับไทยนามิเบีย และอิหร่าน ซึ่งเป็น 3 อันดับต้น ๆ มีสถิติมากกว่าค่าเฉลี่ยเกิน 2 เท่า นั่นคือ 45คน, 44 คน , และ 38 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ตามลำดับ ส่วน 10 ประเทศที่มีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดในโลกได้แก่
1.นามิเบีย (45คน/แสน) 2.ไทย (44คน/แสน) 3.อิหร่าน (38คน/แสน) 4.ซูดาน (36คน/แสน) 5.สวาซิแลนด์ (36คน/แสน) 6.เวเนซุเอลา (35คน/แสน) 7.คองโก (34คน/แสน) 8.มาลาวี (32คน/แสน) 9.สาธารณรัฐโดมินิกัน (32คน/แสน) 10. อิรัก (32คน/แสน) จากตัวเลขเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมีมากกว่าโรคร้ายใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอดส์ มะเร็ง หวัดนก ฯลฯ แต่เหตุผลที่คนไทยมองข้ามเรื่องนี้ เพราะคิดว่าอุบัติเหตุมันเป็นเรื่องของเวรกรรม เลยไม่คิดจะหาทางป้องกันอย่างจริงจัง ทั้งหน่วยงานราชการ และผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งๆที่ความจริง อุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม แต่ทุกคนป้องกันได้ โดยเฉพาะผู้ขับรถ หากไม่ประมาท และเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยคนมักจะมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาและเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงพบว่าปัจจุบันนี้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงมาก โดยเฉพาะช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 คน เฉลี่ยวันละเกือบ 50 คน ส่วนใหญ่จะเกิดที่ทางหลวงแผ่นดิน 37.9% ถนน อบต.และถนนในหมู่บ้าน 36.7% ทางตรง 64.9% รองลงมาคือทางโค้ง 19.7% โดยมีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 39.1% ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด 23.6% จักรยานยนต์มากที่สุด และลักษณะการเกิดอุบัติจะพบว่ามีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 ทางกรมควบคุมโรคได้คาดการณ์เอาไว้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุประมาณ 268-334 คน จึงได้เสนอวิธีป้องกันอุบัติเหตุในช่วงดังกล่าวเอาไว้ 5 เสาหลักคือ
1.การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน
2.ถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย
3.ยานพาหนะปลอดภัย
4.ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย
ซึ่งทั้ง 4 เสาหลักจะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมการขนส่ง และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
ส่วนเสาที่ 5.การตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ เป็นหน้าที่โดยตรงของ สธ. ซึ่งได้ออก 4 มาตรการมารองรับเอาไว้แล้วคือ
1.สนับสนุนให้แต่ละจังหวัดมีฐานข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาปัจจัย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ
2.สายด่วนรับแจ้งเหตุ
3.ควบคุมการจำหน่ายสุราสุ่มตรวจ และตั้งรางวัลสำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสของผู้ที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
และ 4.ขอความร่วมมือจากชุมชนในการตั้งด่านป้องปรามผู้ที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น.
ทั้งนี้ เชื่อว่าหากดูแลตามมาตรการที่วางไว้อย่างเคร่งครัดจะสามารถลดอุบัติเหตุและเสียชีวิตลงเหลือ 257 คน หรือลดลง 20%