เศรษฐกิจพอเพียง คือ ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่ปวงชนชาวไทยมาเป็นระยะเวลานาน ในช่วงตั้งแต่ก่อนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งให้พสกนิกรได้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน มั่นคง และปลอดภัย ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามกระแสโลกาภิวัฒน์ อีกทั้งพระองค์ยังได้ทรงพระราชทานความหมายของ เศรษฐกิจพอเพียง เอาไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy ดังพระราชดำรัสที่ได้ทรงตรัสไว้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554
“ในที่นี้เราฟังเขาถามว่าเศรษฐกิจพอเพียง จะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร ก็อยากจะตอบว่ามีแล้วในหนังสือ ไม่ใช่หนังสือตำราเศรษฐกิจ แต่เป็นหนังสือพระราชดำรัสที่อุตส่าห์มาปรับปรุงให้ฟังได้ และแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพราะคนที่ฟังภาษาไทยบางทีไม่เข้าใจภาษาไทย ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ จึงได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และเน้นว่าเศรษฐกิจพอเพียง แปลว่า Sufficiency Economy โดยเขียนเป็นตัวหนาในหนังสือ”
แต่เนื่องด้วยคำว่า Sufficiency Economy เป็นคำที่เกิดมาจากความคิดใหม่ อีกทั้งยังเป็นทฤษฎีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงไม่มีปรากฏอยู่ในตำราเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบางคนอาจจะยังสงสัยอยู่ว่า Self-Sufficient Economy สามารถใช้แทน Sufficiency Economy ได้หรือไม่ หากว่าไม่ได้มีความหมายอย่างเดียวกัน หรือไม่สามารถใช้เหมือนกันด้ จะมีความเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร โดยคำว่า Self-Sufficiency มีความหมายตามพจนานุกรที่ว่า การไม่ต้องพึ่งใคร และการไม่ต้องพึ่งใครในความหมายของพระองค์ท่านนั้น คือ
“Self-Sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง”
ฉะนั้น เมื่อเติมคำว่า Economy เข้าไป กลายเป็น Self-Sufficient Economy แล้วนั้น จะมีความหมายว่า เศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตัวเอง คือ การที่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างไม่เดือดร้อน ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น แต่ในทุกวันนี้ ประเทศไทยเรายังเดือดร้อน ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นอยู่ ที่ในความเป็นจริงที่เราจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก็ตาม ดังนั้น Self-Sufficient Economy จึงหมายถึง เศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตัวเอง ที่แตกต่างจาก Sufficiency Economy ซึ่งหมายถึง เศรษฐกิจพอเพียงที่ยังคงมีการพึ่งพากันและกันอยู่ ดังพระราชดำรัสเพิ่มเติมที่ว่า
“คือพอมีพอกินของตัวเองนั้นไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่าง จะเรียกว่าอำเภอ จังหวัด ประเทศ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน มีการไม่พอเพียง จึงบอกว่าถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะพอแล้ว จะใช้ได้”
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นแนวทางการดำรงชีวิตและการปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ โดยยึดแนวทางการพัฒนาที่มีคน หรือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองจะเป็นตัวการที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือในภาษาอังกฤษ คือ Sustainable Development
หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง
การพัฒนาตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ