ช่องว่างระหว่างเมือง/ชนบท ในด้านการศึกษา ยังคงมีให้เห็นในสังคมไทย ที่อยู่อาศัยที่มีความเป็นเทศบาลเมืองสูงก็มีโอกาสในด้านการศึกษาสูงกว่าภาคอื่น ๆ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความเป็นเมืองมีความสัมพันธ์ต่อโอกาสด้านการศึกษาอย่างชัดเจน
การพบเช่นนี้สอดคล้องกับแนวคิดแบบจำลองเศรษฐกิจครัวเรือน ที่ได้เน้นกลยุทธ์การลงทุนของครัวเรือน และเน้นที่ ปัจจัยโครงสร้างมหภาค อันได้แก่ ความต้องการแรงงาน อุปทานของการศึกษา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเพิ่มการศึกษาของเด็ก สำหรับครอบครัวยากจน โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่ถิ่นทุรกันดารที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนนั้น มีแนวโน้มที่จะลงทุนน้อยด้านการศึกษากับเด็ก เพราะว่าครอบครัวให้ความสำคัญต่อการความเป็นอยู่ที่ดีด้านเศรษฐกิจ มากกว่าการศึกษาของเด็ก ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้เด็กต้องหยุดการเรียน และเข้าสู่กำลังแรงงาน เพื่อทำให้ครอบครัวมีสถานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ทรัพยากรครัวเรือน ก็มีความสัมพันธ์กับการศึกษา เช่นกัน โดยที่ทรัพยากรครัวเรือนในที่นี้ คือ ฐานะทางเศรษฐกิจ และการมีพ่อแม่ รวมถึง การศึกษาของพ่อแม่ด้วย ครัวเรือนที่ยากจนกว่ามีแนวโน้มที่เด็กจะได้รับโอกาสในการศึกษาน้อยกว่าครัวเรือนที่รวยกว่า ครัวเรือนที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ โอกาสที่เด็กจะได้รับการศึกษาสูงมีค่อนข้างน้อย และยิ่งครัวเรือนที่มีพ่อแม่มีการศึกษาสูงโอกาสในการศึกษาของลูกก็ยิ่งมีมาก
สิ่งที่พบนี้สามารถนำแนวคิดเรื่องทุนวัฒนธรรมมาอธิบายได้ โดยแนวคิดเรื่องนี้กล่าวว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่มีระดับการศึกษาน้อย มีแนวโน้มที่เด็กมีข้อจำกัดด้านทักษะการใช้ภาษา แบบแผนการมีปฏิสัมพันธ์มีน้อย และทัศนคติที่มีต่อการจะบรรลุถึงการเรียนมีน้อยด้วย ดังนั้นเด็กที่มีพ่อแม่ที่มีการศึกษาสูงจึงเหมือนว่าถูกจัดสรรให้ได้รับการศึกษา เพราะได้รับทุนทางวัฒนธรรมที่ดีกว่าเด็กโดยทั่วไป และในส่วนที่รูปแบบของทุนวัฒนธรรม สามารถถ่ายทอดจากคนรุ่นพ่อแม่ไปยังรุ่นลูกได้สำเร็จ ก็อาจจะสะท้อนความจริงที่ว่า ระดับการศึกษาที่สูงของพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่คิดปรับปรุงคุณภาพและปริมาณที่พ่อแม่ใช้เวลากับลูกด้วย