เพราะแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะซบเซาและได้รับความท้าทาย มีสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีฐานการตลาดที่มั่นคงและราคาถูกกว่าอยู่มากมาย แต่สินค้าเกษตรอินทรีย์ซึ่งส่วนใหญ่มีราคาสูงกว่าก็ยังเป็นที่นิยมและมีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต เช่น ในเบลเยียม ราคาขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปมะเขือม่วงราคา 2.99 ยูโร/กิโลกรัม ในขณะที่มะเขือม่วงออร์แกนิคราคา 6.99 ยูโร/กิโลกรัม หรือ บร็อกโคลีราคา 1.98 ยูโร/กิโลกรัม ส่วนบร็อกโคลีออร์แกนิคราคา 4.99 ยูโร/กิโลกรัม
ผลการวิจัยของกระทรวงอาหาร เกษตรและการคุ้มครองผู้บริโภคของเยอรมนี (BMELV) เกี่ยวกับความนิยมบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ พบว่าในปี 2556 ผู้บริโภคอายุต่ำกว่า 30 ปีซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น ในขณะที่สวิตเซอร์แลนด์มีสัดส่วนของการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากที่สุดในยุโรป ตามด้วยเดนมาร์ก โดยอาหารเกษตรอินทรีย์ที่ชาวยุโรปนิยมบริโภคได้แก่ กาแฟ ข้าว ชา ผักและผลไม้ องค์กรเพื่อการวิจัยและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ (FiBL) และสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) คาดการณ์ว่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของยุโรปจะเติบโตในอัตราประมาณ 9% ในปี 2556
อียูมีพื้นที่การเกษตรอินทรีย์ มากกว่า 7.6 ล้านเฮคเตอร์ หรือ 4.3% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของอียู โดยอิตาลีเป็นประเทศที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากที่สุดในยุโรป ตามมาด้วยสเปนและเยอรมนีตามลำดับ เป็นที่สังเกตได้ว่าระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรอินทรีย์ในอียูได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรวมไปถึงผลประกอบการของผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดคือ เยอรมนี ตามมาด้วย ฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลี
จุดเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดเรื่องสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอียูคือ เมื่อปี 2548 อียูได้เปิดตัวโครงการ European Action Plan on Organic Food and Farming เพื่อเพิ่มความตระหนักในการทำการเกษตรอินทรีย์ หลังจากนั้นประเทศสมาชิกก็ได้ตื่นตัวและมีแผนปฏิบัติการของตนในการพัฒนาวิจัยด้านเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์ โดยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาสังคม เพื่อเพิ่มความสำคัญและบทบาทของเกษตรอินทรีย์ให้เข้าไปอยู่ในการกำหนดนโยบายระดับประเทศและภูมิภาค โดยแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของอาหาร ตลอดจนการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่ชนบทในประเทศด้วย
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรจากสหรัฐฯ ได้กล่าวว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระแสนิยมการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นนั้นเป็นเพราะ ได้มีการเปิดเผยผลการวิจัยถึงความเชื่อมโยงกันของความเสี่ยงด้านสุขภาพกับสารเคมีที่อยู่ในอาหารและการสะสมของสารเคมีเมื่อมีการบริโภคต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน
จากแนวโน้มการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์และการให้ความสำคัญเรื่องเกษตรอินทรีย์ของคนอียูดังกล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาเป็นยุทธศาสตร์ในการส่งออกสินค้าไทยไปอียูได้ อาทิ ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ในฐานะประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย สินค้าเกษตรอินทรีย์ในไทยนั้นอาจเรียกได้ว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่ทำการเกษตรอินทรีย์ ผลิตขายในไทยและส่งออกต่างประเทศ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่นั้นเป็นประเภท ข้าว สมุนไพร (ขิง) ผัก (หน่อไม้) ผลไม้ (สับปะรด) โดยเฉพาะข้าวนั้น จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่การปลูกข้าวอินทรีย์มากที่สุดในโลก ข้าวอินทรีย์โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นสินค้าที่ต้องการในตลาดอียูเป็นอย่างมาก โดย 96% ของข้าวอินทรีย์ที่ผลิตในไทยถูกส่งออกไปยังอียูและมีแนวโน้มในการขยายตลาดมากขึ้นในอนาคต ไม่เพียงแค่สินค้าพืชและผัก ไทยยังมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าอินทรีย์ประเภทอื่นๆ เช่น กุ้งกุลาดำอินทรีย์ ปลาสลิดอินทรีย์ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าหลักที่ไทยส่งออกก็สามารถสร้างความน่าสนใจและเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ เช่น ผลไม้แห้งอินทรีย์ ผลไม้กระป๋องอินทรีย์ เป็นต้น
สินค้าอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจคือ กาแฟ และชา เนื่องจากเป็นสินค้าชนิดต้นๆ ในกลุ่มสินค้าเกษตรที่อียูนำเข้าสูงสุดและมีอัตราการบริโภคสูง ยิ่งไปกว่านั้นการผลิตกาแฟออร์แกนิคสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เนื่องจากความต้องการกาแฟและชาออร์แกนิคในตลาดอียูมีมากกว่าปริมาณที่มีในตลาด เป็นเพราะมาตรฐานกระบวนการผลิตที่มีขั้นตอนมากมาย และผู้ประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตยังมีจำกัด ประเทศไทยก็มีกาแฟและชาคุณภาพและมีความหลากหลาย อย่างไรก็ดี กาแฟและชาออร์แกนิคจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และเวียดนาม เป็นคู่แข่งรายใหญ่ของไทยในการส่งออกไปยุโรป โดยเฉพาะลาวซึ่งได้ส่งออกกาแฟออร์แกนิคไปยังอียูเมื่อไม่นานมานี้ พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือทางด้านการวิจัยและเทคโนโลยีการผลิตจากรัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนี
สินค้าเกษตรอินทรีย์ในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในอียู เนื่องจากในภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในอียูนั้นได้ให้ความสำคัญกับวงจรชีวิตสินค้ามากขึ้น เช่น การใช้วัสดุที่มีคุณภาพไม่เสื่อมง่าย ลดปริมาณการซื้อเพิ่ม ที่ก่อให้เกิดขยะจากการทิ้งหรือทำลายเสื้อผ้าที่เสื่อมคุณภาพ โดยเฉพาะจากสินค้าเครื่องนุ่งห่มที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีการย่อยสลายยาก ผู้บริโภคอียูจึงเริ่มให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าที่ทำจากฝ้ายอินทรีย์แทนเสื้อผ้าทั่วไปโดยเฉพาะเสื้อผ้าในกลุ่ม Fast Fashion ที่มีอยู่จำนวนมากในอุตสาหกรรมแฟชั่น นอกจากนี้กลุ่มพ่อแม่รุ่นใหม่ในยุโรปก็หันมาซื้อสินค้าเครื่องนุ่งห่มสำหรับเด็กที่ปราศจากสารเคมีมากขึ้น เนื่องจากเด็กมีความบอบบางและสามารถแพ้สารเคมีที่มากับผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ไทยเพิ่งเริ่มเปิดตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปซึ่งผลิตจากฝ้ายอินทรีย์ไปยังอียูเมื่อไม่นานมานี้
อย่างไรก็ดี การเกษตรอินทรีย์ของไทยมีข้อจำกัดและความท้าทายอยู่บางเรื่อง เช่น ปัญหาเรื่องแมลงและศัตรูพืช ที่พบมากในพืชเขตร้อน อีกทั้ง ยังมีคู่แข่งจากประเทศในกลุ่ม ACP หรือ กลุ่มแอฟริกัน แคริเบียน และแปซิฟิก ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศในยุโรป ที่มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับไทยสามารถผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรประเภทเดียวกัน แต่ได้เปรียบในเรื่องระยะทางการขนส่ง ต้นทุน และสิทธิประโยชน์พิเศษทางก