การทุจริตคอร์รัปชันในความรู้สึกของคนทั่วไปคือมะเร็งร้ายบ่อนทำลายชาติ ในทางกฎหมายการทุจริตคอรัปชั่นนับเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะใช้กลไกของรัฐในรูปแบบต่างๆเพื่อขจัดสิ่งเลวร้ายดังกล่าวไม่ว่าในรูปแบบของการออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ จรรยาบรรณหรือในรูปแบบอื่นๆ การสร้างองค์กรต่างๆขึ้นมาปราบปรามไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายราชการประจำ หรือฝ่ายการเมืองหรือแม้การแต่กำหนดให้อยู่ในรูปแบบขององค์กรอิสระก็ตาม จะเห็นได้ว่ามาจนถึงทุกวันนี้ความมุ่งหมายในการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ยังไม่เป็นผลเท่าที่ควรในขณะที่การทุจริตประพฤติมิชอบนั้นได้มีพัฒนาการทั้งวิธีการ เทคนิค รูปแบบไปมากมายและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของชาติแต่ละครั้งนับเป็นจำนวนเงินมากมายมหาศาล กลไกของระบบราชการที่จะขจัดสิ่งเลวร้ายดังกล่าวแม้จะมีมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ สังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ ทั้งระบบราชการไทยเป็นระบบบังคับบัญชาจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดลดหลั่นกันลงมาจนถึงล่างสุด ผู้บังคับบัญชามีอิทธิพลสูงต่อการให้ความดีความชอบแก่ผู้น้อยอีกทั้งทัศนคติเดิมๆที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมักทำตัวเหมือนขุนนางเก่าถือเอาตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์ใส่ตน เมื่อต่างก็คิดเช่นนี้ก็เลยไม่มีใครตรวจสอบใคร ข้าราชการชั้นผู้น้อยเห็นอะไรต้องเงียบไว้เพราะเกรงจะไม่ปลอดภัย สู้ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นจะปลอดภัยกว่าทั้งยังได้รับความดีความชอบเสียด้วยซ้ำไป ดีไม่ดีก็ทำตามกันไปเสียเลย ซึ่งแม้หากจับได้ไล่ทัน กระบวนการลงโทษก็ไม่เข้มแข็งพอเพราะจะอยู่ในลักษณะลูบหน้าปะจมูกเสียเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาคส่วนที่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นภาคการเมืองนั่นเองไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับชาติหรือการเมืองระดับท้องถิ่นก็ตามและเมื่อเกิดกรณีทุจริตคอรัปชั่นขึ้นมาครั้งใดก็จะทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาลเนื่องจากนักการเมืองเป็นผู้จัดสรรงบประมาณของแผ่นดินและเป็นผู้วางนโยบายต่างๆในการใช้เงิน ซึ่งในแต่ละปีงบประมาณแผ่นดินมีไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านล้านบาท ในอดีตเราเคยปล่อยให้นักการเมืองเข้าไปจัดสรรผลประโยชน์เพื่อบริหารประเทศ โดยประชาชนจะไม่มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบเพราะถือว่าประชาชนได้ทำหน้าที่เลือกตัวแทนของตนเข้าไปแล้วก็ปล่อยให้ตัวแทนของตนทำหน้าที่ไปโดยไม่ทราบว่านักการเมืองเหล่านั้นทำอะไรบ้าง เมื่อเกิดความเสียหายก็สุดจะเยียวยา ดังปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ หากจะพึ่งกระบวนการตรวจสอบจากภาครัฐก็จะประสบปัญหาอุปสรรคมากมาย ทั้งอิทธิพลของการเมือง ทั้งความล่าช้าของระบบทางราชการ รวมทั้งความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา ทำนองแมลงวันย่อมไม่ตอมกันเอง
แนวคิดการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยบทบาทของภาคประชาชน (ป.ป.ช.ภาคประชาชน) จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนภายใต้พื้นฐานความเข้าใจว่าคนไทยทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบดูแลอนาคตและความอยู่รอดของชาติไทยของเรา ในการที่ประชาชนจะเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบความโปร่งใสของภาครัฐ ในฐานะ ป.ป.ช.ภาคประชาชนนั้นจึงต้องมีหลักการทำงาน ดังนี้
(1) ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะอาสาเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองจริงๆนั่นคือต้องมีความเป็นผู้มีจิตอาสา มีความเสียสละ อดทน กล้าหาญ มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความโปร่งใส
ไม่ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ให้แก่พรรคพวก นั่นหมายความว่าเราต้องมีภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองโดยการดำเนินชีวิตแบบปรัชญาพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(2) ต้องติดอาวุธทางปัญญาให้กับตัวเองตลอดเวลา นั่นคือต้องมีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ภาคประชาชน และต้องแสวงหาความรู้ให้เท่าทันเทคนิคกลโกง การทุจริตคอรัปชั่นด้วยวิธีการต่างๆเพื่อเป็นหลักในการทำงานให้ถูกต้องและเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคม
(3) ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนด้วยกันเอง การติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชนโดยการให้ความรู้หรือการเสนอแนะช่องทางในการตรวจสอบความโปร่งใสของการทำงานของภาครัฐ การสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง และการชี้ให้เห็นอันตรายของการทุจริตคอรัปชั่น
(4) การเฝ้าระวังพื้นที่ที่เห็นว่าสุ่มเสี่ยงต่อการแสวงหาผลประโยชน์ การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ไม่ชอบมาพากลต่างๆเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติได้ทันการ
(5) ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่องในชุมชน หมู่บ้านตำบล และในทุกภาคส่วนของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาทุกระดับเพื่อให้เยาวชนได้ตระหนักถึงภัยร้ายของการทุจริตคอรัปชั่น
(6) ส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าไปมีบทบาทในการป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งทุกระดับ
ไม่ว่าในระดับชาติหรือในระดับท้องถิ่นเพื่อการคัดกรองคนดี มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมเข้ามาบริหารประเทศ ป้องกันคนไม่ดีไม่ให้เข้ามาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ให้ส่งเสริมคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมไม่ดีไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้
(7) ส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าไปมีบทบาทในการป้องกันการทุจริตการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นการปกครองที่ใกล้ตัวของพี่น้องประชาชนมากที่สุดโดยการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกำหนดนโยบายการบริการสาธารณะให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ให้ประชาชนได้เข้าร่วมตรวจสอบความโปร่งใสของการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ประชาชนประเมินการทำงานขององค์กรปกครองท้องถิ่นของตน เป็นต้น
(8) จัดให้มีการแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะของสาธารณะชนเพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงการทำงานของ ป.ป.ช.ภาคประชาชน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(9) จัดให้มีกิจกรรมเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณยกย่องให้กำลังใจและช่วยกันรณรงค์ปกป้องคนที่ทำความดี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณ