ความสามารถในการพูดและเข้าใจภาษาเป็นคุณสมบัติที่มีควบคู่มากับมนุษย์ทุกคน เราทุกคนสามารถใช้ภาษาในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ทัศนะคติ และประสบการณ์ต่างๆ ได้ แต่น้อยคนนักที่จะตั้งคำถามและตระหนักถึงความสามารถนี้ นักภาษาศาสตร์เป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ตระหนักถึงความสามารถในการใช้ภาษาของมนุษย์ และพยายามที่จะศึกษาคุณสมบัติของภาษาในฐานะที่เป็นระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์ในสังคมใช้เพื่อสื่อสารกัน
ภาษาศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่มุ่งศึกษาทักษะการใช้ภาษาต่างๆ แต่เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาลักษณะของภาษาโดยอาศัยหลักทฤษฎีและวิธีการวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์มองว่าภาษาคือกิจกรรมทางสังคมที่มนุษย์มีร่วมกัน ถึงแม้ว่าภาษาไทยกับภาษาอังกฤษจะดูแตกต่างกันในสายตาของคนทั่วไป แต่สำหรับนักภาษาศาสตร์แล้ว ทั้งสองภาษานี้มีทั้งความเหมือนและความต่าง เช่นเดียวกับภาษาอื่นๆ ในโลก
การศึกษาภาษาศาสตร์สามารถแบ่งได้เป็น 2 แขนงหลัก กล่าวคือ ภาษาศาสตร์ทั่วไป (Pure Linguistics) และภาษาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Linguistics)
1. ภาษาศาสตร์ทั่วไป (Pure Linguistics) เป็นการศึกษาลักษณะทั่วไปของภาษาในมิติที่ไม่ได้ถูกเชื่อมโยงไปสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นเพื่อวัตถุประสงค์ในการประยุกต์ใช้ นักภาษาศาสตร์แบ่งการศึกษาภาษาออกเป็นระดับต่างๆ ได้แก่ ระดับเสียง ระดับคำ ระดับวากยสัมพันธ์ ระดับความหมาย นอกจากนี้ภาษาศาสตร์ยังแบ่งการศึกษาภาษาเป็น 2 กลุ่มในมุมมองที่สัมพันธ์กับกาลเวลาคือ การศึกษาลักษณะของภาษา ณ จุดของเวลาใดเวลาหนึ่ง (Synchronic) และการศึกษาลักษณะของภาษาตามการเปลี่ยนแปลงของเวลา (Diachronic)
2. ภาษาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Linguistics) เป็นการศึกษาภาษาในมุมมองที่สัมพันธ์กับสาขาวิชาอื่นเพื่อวัตถุประสงค์ในการประยุกต์ใช้ สามารถนำมาผนวกเข้ากับการศึกษาภาษาศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่การศึกษาภาษาศาสตร์ประยุกต์มีมากมายเช่น สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา ครุศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ประสาทวิทยา เป็นต้น