หิ่งห้อยทั่วโลกมีประมาณ 2,000 ชนิด กระจายอยู่ทั่วไป พบมากในเขตร้อนชื้น จากการสำรวจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พบหิ่งห้อย 21 ชนิด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยใกล้แหล่งน้ำมีวงจรชีวิตช่วงหนึ่งเป็นตัวหนอนอยู่ในน้ำอีกกลุ่มอาศัยอยู่ตามพื้นดินที่แห้ง
จากการศึกษาพบว่าหิ่งห้อยตัวเต็มวัยไม่กินอาหารกินเพียงน้ำค้างที่เกาะอยู่ตามใบไม้ ส่วนในช่วงที่เป็นตัวหนอนจะกิน (หอย, ไส้เดือน, กิ้งกือและแมลงเล็ก ๆ ) อาหารต่างกันไปในแต่ละชนิดแต่ส่วนใหญ่อาหารของหิ่งห้อยคือหอยชนิดต่าง ๆ หิ่งห้อยที่เป็นอาหารหิ่งห้อยหลายชนิดเป็นพาหะนำโรคมาสู่คนได้แก่โรคพญาธิใบไม้ โรคเชื้อหุ้มสมองอักเสบ ในเวลากลางวันหิ่งห้อยจะหลบซ่อนตัวอยู่ตามพงหญ้าหรือวัชพืชที่ชื้นแฉะหรือตามกาบไม้ ซอกไม้ ในเวลากลางคืนจึงบินออกมาจับคู่ผสมพันธุ์วางไข่
วงจรชีวิตของหิ่งห้อย
หิ่งห้อยเป็นแมลงชนิดหนึ่งจึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง 4 ระยะ ก่อนจะเป็นตัวเต็มวัย ส่งแสงให้เห็นกัน คือ ระยะแรกเป็นไข่ ระยะตัวอ่อน ระยะดักแด้ และระยะตัวเต็มวัย หิ่งห้อยตัวเต็มวัย จะผสมพันธุ์วางไข่บริเวณโคนต้นพืชหรือหญ้า บนบก หรือในน้ำแล้วแต่ชนิดของหิ่งห้อย โดยทั่วไป ไข่ของหิ่งห้อยจะมีสีเหลือง ลักษณะกลมรี วางไข่เป็นกลุ่ม 5 – 130 ฟอง แล้วแต่ชนิด และใช้เวลา จากไข่จนถึงตัวเต็มวัย 3 – 4 เดือน จนถึง 1 ปี แตกต่างกันไปตามชนิดของหิ่งห้อย และมีชีวิตส่องแสงได้ประมาณ 1 – 2 เดือน
กระบวนการเกิดแสงของหิ่งห้อย
แสงของหิ่งห้อยเป็นแสงเย็น เพราะกระบวนการส่องแสงของหิ่งห้อยเกิดความร้อนน้อยมาก หลอดไฟทั่วไปจะเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานความร้อน 90% อีก 10% เป็นแสงสว่าง แต่หิ่งห้อยจะเปลี่ยนพลังงานเคมีในร่างกายเป็นแสงสว่าง 90% อีก 10% เป็นความร้อน แสงของหิ่งห้อยเกิดจากปฏิกิริยาชีวเคมีในร่างกายเริ่มจากสมองหลั่งสารเคมีชื่อ ไนตริกออกไซด์ส่งสัญญาณไปที่เซลล์ส่วนท้องให้กระตุ้นการทำงนของเอ็มไซม์โดยใช้ออกซิเจนร่วมด้วย แปลงสารเคมีในเซลล์เกิดเป็นพลังงานแสง โดยมีเซลล์ประสาททำหน้าที่ควบคุมการกระพริบของแสง
หิ่งห้อยจะกระพริบแสงเวลากลางคืนทุก ๆ 24 ชั่วโมง เป็นประจำ แม้เราจะจับหิ่งห้อยขังไว้ในที่มืดหากไม่ถึงเวลาหิ่งห้อยก็จะไม่กระพริบแสง โดยปกติหิ่งห้อยส่องแสงในเวลาโพล้เพล้ และมีรูปแบบการกระพริบแสงถึง 200 แบบ
หิ่งห้อยที่บินส่องแสงมักจะเป็นตัวผู้ ส่วนตัวเมียชอบเกาะนิ่ง ๆ บนใบไม้กิ่งไม้ (หิ่งห้อยตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ส่วนใหญ่บินไม่ได้ บางที่เรียกหนอนกระสือ) แสงที่กระพริบใช้สำหรับ สื่อสารกับเพศตรงข้าม ตัวผู้ใช้เกี้ยวพาราสีตัวเมีย ตัวเมียใช้ตอบรับการเกี้ยวของตัวผู้โดยตัวผู้จะกระพริบก่อน เมื่อตัวเมียพอใจจะกระพริบแสงตอบเพื่อให้ตัวผู้บินไปหาถูกจังหวะการกระพริบจะต่างกันไปตามชนิดของหิ่งห้อย ตามปกติชาวบ้านเมื่อเห็นหิ่งห้อยบินออกมากระพริบแสงก็เป็นการส่งสัญญาณว่า ฤดูร้อนกำลังจะมาเยือนนั่นเอง
การจัดการหิ่งห้อยเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
สิ่งสำคัญในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยการพาชมหิ่งห้อยนั้นสำคัญที่สุด คือ ต้องให้ชาวบ้านรู้ว่าหิ่งห้อยมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร กินอะไรเป็นอาหาร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร หิ่งห้อยไม่ชอบเสียงดัง หิ่งห้อยไม่ชอบความสกปรก ดังนั้นต้องช่วยกันดูแลความสะอาดของแม่น้ำลำคลองถิ่นอาศัยขยายพันธุ์ของหิ่งห้อย ไม่ฉายไฟ ไม่เขย่าต้นไม้ที่หิ่งห้อยอยู่ และการจัดท่องเที่ยวก็ควรมาจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่ใช่มาจากบริษัทท่องเที่ยวและหากมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ดี ย่อมนำมาซึ่งรายได้แก่ชุมชนเจ้าของพื้นที่ในที่สุด
ข้อควรปฏิบัติในการล่องเรือชมหิ่งห้อย
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวที่สมุทรสงคราม สามารถที่จะเช่าเรือล่องชมหิ่งห้อยได้ตามสถานที่ต่าง ๆ
และควรปฏิบัติดังนั้
- ไม่ควรดื่มสุรา หรืออื่นๆ ในระหว่างล่องเรือ เพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้
- ไม่ควรส่งเสียงดัง เพราะหิ่งห้อยจะไม่ชอบเสียงดัง และจะเป็นการรบกวนผู้อื่น โดยเฉพาะชาวบ้านซึ่งอยู่
ในบริเวณนั้นๆ
- ควรนั่งเรือตรงกลาง ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
- ใส่ชูชีพทุกครั้ง และควรใส่ตลอดเวลา ไม่ถอดออกระหว่างการเดินทาง
- ไม่ทิ้งเศษอาหาร หรือขยะอื่น ๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง
- ไม่จับหรือทำสิ่งใดที่เป็นการรบกวนหิ่งห้อยโดยเด็ดขาด
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ให้บริการและผู้ขับเรือโดยเคร่งครัด