3. การประกอบธุรกิจของแต่ละธุรกิจ
_________________________________________________________________________________
บริษัทฯ แบ่งการดำเนินงานออกเป็นธุรกิจหลักและหน่วยธุรกิจ ดังนี้
1. ธุรกิจสายการบิน เป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ ประกอบด้วย
• การบริการขนส่งผู้โดยสาร
• การบริการขนส่งสินค้า พัสดุภัณฑ์ และไปรษณียภัณฑ์
2. กิจการหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการขนส่ง ได้แก่
• กิจการบริการลูกค้าภาคพื้น
• กิจการบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น
• กิจการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์
• กิจการครัวการบิน
• กิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน
3. กิจการที่สนับสนุนการขนส่ง ได้แก่
• การให้บริการอำนวยการบิน
• การจัดจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีบนเครื่องบิน
• การจำหน่ายสินค้าที่ระลึก
3.1 ลักษณะธุรกิจหรือบริการ
ธุรกิจการขนส่งทางอากาศ
ลักษณะการดำเนินธุรกิจการบินโดยทั่วไปเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูง (High Investment) ใช้ต้นทุนในการดำเนินงานค่อนข้างสูง (High Operating Cost) แต่ผลกำไรหรือค่าตอบแทนต่ำ (Low Profit Margin) ซึ่งความต้องการของลูกค้า (Demand)
ในแต่ละช่วงเวลาไม่แน่นอน จึงยากต่อการควบคุมการขายที่นั่งในแต่ละเที่ยวบิน ทำให้มีอัตราการเสี่ยงต่อผลกำไรหรือขาดทุนในแต่ละเที่ยวบินสูง ทั้งนี้ ธุรกิจการบินมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรม
การบิน เช่น ปัญหาทางการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ หรือโรคระบาดต่างๆ เป็นต้น
ความมั่นใจหรือความพึงพอใจของผู้โดยสารในการใช้บริการ จึงขึ้นอยู่กับชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของสายการบินในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานการบริการ และการตรงต่อเวลาของเที่ยวบินเป็นหลัก สิ่งต่างๆ เหล่านี้สร้างขึ้นยากและใช้เวลานาน แต่สามารถถูกทำลายลงอย่างง่ายดายในเวลาอันรวดเร็ว เช่น ถ้ามีอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการปฏิบัติการบินหรือมาตรฐานการบินต่ำ ก็จะทำให้ผู้โดยสารลดความเชื่อถือลงทันที
ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง
ด้วยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยเน้นการเติบโตอย่างมั่นคง พร้อมทั้งกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์