วัดสูงเม่น สันนิฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีต่อเนื่องสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่ก็ถือว่าอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างสมัยที่พม่าปกครองล้านนาและในช่วงที่ชาวล้านนาร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินขับไล่พม่า ซึ่งเป็นช่วงเริ่มมีการพลิกฟื้นอารยธรรมล้านนาให้กลับมามีบทบาทในการพัฒนาบ้านเมือง และการค้ำชูพระพุทธศาสนา ซึ่งจากหลักฐานตามประวัติของครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถรซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๓๒-๒๔๐๙ ก็พบว่า มีวัดสูงเม่นมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว
วัดสูงเม่น เดิมเรียกว่า “วัดสุ่งเม้น” โดยมีเรื่องเล่าสืบๆ กันมาว่าแต่เดิมสถานที่ตำบลสูงเม่นเป็นป่าไผ่และทุ่งหญ้า รวมถึงป่าไม้เบญจพันธุ์ มี “เม่น” ซึ่งเป็นสัตว์ป่าตระกูลหมูอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากและประกอบกับสถานที่เป็นที่ทำเลดีมีหญ้าและท่าน้ำบริบูรณ์ พวกพ่อค้าวาณิชย์และคนเดินทางในสมัยอดีตจึมักจะมาแวะพักแรมกันในบริเวณดังกล่าว จนเรียกพื้นที่ตำบลนี้ว่า “ป๋างสุ่งเม้น” การที่พวกสัตว์และ “เม่น” อาศัยอยู่รวมกันมากหรือมีเม่นมากในบริเวณนี้ คนจึงเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “สุ่ง” ซึ่งได้ชื่อตามนิมิตของฝูงเม่นว่า “บ้านสุ่งเม้น” วัดสูงเม่น ในปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่