3.3 ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการกลั่นน้ำมันอันดับ 3 ของโลกรองจาก Houston ในสหรัฐฯ และ Rotterdam ในเนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์สามารถกลั่นน้ำมันได้เฉลี่ย 1.3 ล้านบาเรลต่อวัน และรัฐบาลสิงคโปร์คาดหวังว่า สิงคโปร์จะสามารถกลั่นน้ำมันได้ถึง 30 ล้านบาเรล ต่อวันในปี 2573
บริษัทกลั่นน้ำมันที่สำคัญคือ ExxonMobil มีความสามารถในการกลั่นได้สูงสุด 605,000 บาเรล/วัน รองลงมาได้แก่ Royal Dutch Shell 458,000 บาเรล/วัน และ Singapore Petroleum Company (SPC) 273,600 บาเรล/วัน
เป็นที่น่าสังเกตว่าสิงคโปร์ซึ่งไม่มีแหล่งน้ำมันดิบในประเทศเลย แต่สามารถเป็นศูนย์กลางการกลั่นน้ำมันที่สำคัญของโลกได้ ทั้งนี้เนื่องจากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง เพราะสิงคโปร์อยู่บนคาบสมุทรมะละกา ซึ่งคั่นระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค นอกจากนี้ ยังมีท่าเรือน้ำลึก จึงเป็นศูนย์กลางของการขนส่งทางทะเล กฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ มีการจัด ระบบสาธารณูปโภคที่ดีและแรงงานมีทักษะ จึงทำให้สิงคโปร์กลายเป็นแหล่งค้าขายน้ำมันที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ยังต้องเผชิญกับความท้าทายของการเป็นผู้นำด้านการค้าน้ำมันของเอเชียในอนาคต เพราะหลายประเทศ เช่น อินเดีย มาเลเซีย และไทย ได้ก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศรวมทั้งจากสิงคโปร์
สำหรับก๊าซธรรมชาติ สิงคโปร์นำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมดจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและปิโตรเคมี ปี 2547 สิงคโปร์ใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งสิ้น 273 พันล้านลูกบาศก์ฟุต สูงขึ้นกว่า 6 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2545 ซึ่งใช้เพียง 41 พันล้านลูกบาศก์ฟุต เหตุที่การใช้ก๊าซธรรมชาติของสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัฐบาลส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติแทนเชื้อเพลิงอื่น เพื่อลดการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และซัลเฟอร์ รวมทั้งสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และสนับสนุนให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางท่อส่งก๊าซของภูมิภาคด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสิงคโปร์พยายามลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยหันมาใช้ก๊าซ LNG มากขึ้น เนื่องจากมีหลายประเทศสามารถผลิตได้ นอกจากนี้ LNG ยังมีข้อดีคือราคาค่อนข้างมีเสถียรภาพมากกว่าก๊าซธรรมชาติ เพราะว่าการทำสัญญาซื้อขาย LNG จะเป็นสัญญาระยะยาว แตกต่างจากก๊าซธรรมชาติทั่วไปซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมัน ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนสร้าง Liquefied Natural Gas Import Terminal ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จในปี 2555