นโยบายชาตินิยม (Nationalism) เป็นวิธีการหนึ่งที่สะท้อนภาพของการสร้างชาติให้คนในชาติมีความสำนึกการเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นในการเกิดความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อชาติของตน และทุกคนในชาติต้องมีส่วนร่วมให้ความตระหนักในสิ่งที่เกิดขึ้น ลัทธิชาตินิยมเป็นพลังสำคัญอันหนึ่งที่เป็นแนวคิดในเรื่องของชาติที่เป็นลักษณะอุดมคติสมัยใหม่
ซึ่งคำว่า “ชาติ” นั้น หลวงวิจิตร วาทการ ได้กล่าวไว้ว่า ชาติ จึงมีความสัมพันธ์กับคำว่า เชื้อชาติ เป็นการกล่าวถึงส่วนรวมของมนุษย์ที่มีเชื้อชาติเดียวกัน ร่วมโชคชะตากัน เช่น เกิดขึ้นในภูมิภาคเดียวกัน มีเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในหน่วยงานปกครองของรัฐบาลเดียวกัน รวมทั้งมีความรู้สึกมีความเป็นพี่น้องกันในทางเชื้อชาติ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีความหมายตรงกับคำว่ารัฐหรือพลเมืองของรัฐ
ลัทธิชาตินิยมในระบอบประชาธิปไตยได้ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะในครั้งแรกซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเมืองในขณะนั้นกำลังสับสนวุ่นวายทั้งจากปัญหาภายในและภายนอกประเทศ จอมพล ป. ก็ได้พยายามหากำลังสนับสนุนจากประชาชน โดยมีหลวงวิจิตรวาทการนักชาตินิยมคนสำคัญ ได้แนะนำให้ใช้วิธีปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมให้เกิดขึ้น เพื่อจะได้พลังของประชาชนไว้สนับสนุนรัฐบาล
ซึ่งนโยบายชาตินิยมในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. นั้นเป็นแบบ New National High Culture คือ ปฏิเสธความเป็นพื้นบ้านบางอย่างที่เห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ศิวิไลซ์และเป็นสิ่งที่สร้างความด้อยอารยธรรมในสายตาประเทศตะวันตก และเอาสิ่งใหม่ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่เข้ามาใช้ เช่น รำวง ชุดไทย การสวมหมวก การมีไฮด์ปาร์ก เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นชาตินิยมแบบราชการ (Official Nationalism) คือ เป็นการทำชาตินิยมโดยผู้ปกครอง-ข้าราชการจากส่วนกลาง และการที่ต้องดำเนินนโยบายที่เข้มแข็งก็เพื่อปลุกใจให้คนรักชาติ สร้างจิตสำนึกเรื่องชาติ ในการต่อต้านการครอบงำหรือเอาเปรียบจากจากประเทศอื่น
แท้ที่จริงปัจจัยสำคัญของการสร้างสำนึกชาตินิยมในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นั้นเพื่อเป็นการสนองต่อนโยบายการสร้างชาติของตน ทั้งนี้เป็นผลสะท้อนที่ออกมาจากการประกาศใช้รัฐนิยม
นับแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในพ.ศ. 2481 ได้ดำเนินนโยบายชาตินิยม เช่น ออกกฎหมายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ, มีการสงวนอาชีพบางอย่างไว้เฉพาะคนไทย เช่น ช่างตัดผม การผลิตเกลือ พนักงานขับรถโดยสาร การทำพระพุทธรูป เป็นต้น รวมทั้งปลูกฝังให้ประชาชนนิยมใช้สินค้าไทย ด้วยคำขวัญว่า “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ”