ารศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าของขมิ้นชันในการกำจัดลูกน้ำยุงทำได้ โดยการเติมน้ำมันหอมระเหยขมิ้นชันลงในถ้วยทดสอบที่มีน้ำปริมาตร 200 มิลลิลิตรและมีลูกน้ำยุง (ยุงลายบ้าน/ยุงลายสวน/ยุงก้นปล่อง/ยุงรำคาญ) ในช่วงระยะที่ 3 ตอนปลาย หรือระยะที่ 4 ตอนต้น จำนวน 20 ตัว การทดสอบนี้จะกระทำโดยเติมน้ำมันหอมระเหยขมิ้นชันในปริมาตรที่แตกต่างกันหลายๆปริมาตร เพื่อที่จะให้ได้ความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยขมิ้นชันในถ้วยทดสอบหลายๆความเข้มข้น ทั้งนี้ในแต่ละความเข้มข้นที่ทดสอบจะกระทำทั้งสิ้น 6 ซ้ำ นับจำนวนลูกน้ำที่ตายเมื่อครบเวลา 48 ชั่วโมง หาอัตราการตายเฉลี่ยของลูกน้ำยุงในแต่ละความเข้มข้น แล้วจึงคำนวณหาความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยขมิ้นชันที่ทำให้ลูกน้ำยุงตายที่อัตรา 50% (LC50) และ 90% (LC90)
ผลการศึกษาพบว่าน้ำมันหอมระเหยขมิ้นชันมีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงทั้ง 4 ชนิด ทั้งนี้จะมีต่อผลต่อการตายของลูกน้ำยุงก้นปล่องมากที่สุด (ค่า LC50 และ ค่า LC90 เท่ากับ 1.2 และ 5.9 ppm) รองลงมาได้แก่ยุงลายสวน ยุงรำคาญ และ ยุงลายบ้าน ตามลำดับ (ตารางที่ 2) สำหรับการทดสอบกับลูกน้ำยุงลายบ้านพบว่า มีค่า LC50 และ ค่า LC90 เท่ากับ 53.9 และ 146.6 ppm ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของน้ำมันหอมระเหยขมิ้นชันที่ควรนำมาพัฒนาเป็นสารกำจัดลูกน้ำยุงทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดแมลงต่อไป ถึงแม้ว่าความเข้มข้นที่สามารถกำจัดลูกน้ำยุงจะค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการใช้สารเคมีกำจัดแมลงทั่วๆไป แต่มีข้อได้เปรียบเมื่อพิจารณาในแง่ความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม