1.ความเป็นมา
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 สภาพทางการเมืองของเหล่าประเทศทั้งหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เข้าสู่ยุคของการกลับเข้ามาของเจ้าอาณานิคมเดิมอีกครั้ง หากแต่ในครั้งนี้ ดินแดนที่ตกเป็นอาณานิคมได้สร้างกระบวนการต่อรองอำนาจกับบรรดาประเทศเจ้าอาณานิคมเดิม รวมไปถึงการเรียกร้องการปกครองตนเอง และขยายวงไปสู่การเรียกร้องเอกราชในที่สุด อย่างไรก็ตามบรรดาดินแดนที่ถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อชาวตะวันตกคือ จีน ทั้งนี้ จีนถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่และเส้นทางยุทธศาสตร์ทางการทหาร และการรบระหว่างญี่ปุ่นกับฝ่ายของ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เมื่อสงครามโลกครั้งสองสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 สถานการณ์ในจีนในช่วงเวลาหลังจากนั้นได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในปี พ.ศ. 2492 พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะเหนือพรรคก๊ก มิน ตั๋ง โดยมีนายพล เจียง ไค เช็ค เป็นผู้นำในขณะนั้น ทำให้จีนจึงอยู่ภายใต้การปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ เนื่องจากสภาพการณ์ดังกล่าวมาข้างต้นทำให้นายพล เจียง ไค เช็ค จำเป็นต้องถอยไปตั้งรัฐบาลใหม่ยังเกาะฟอร์โมซา (ประเทศไต้หวันในปัจจุบัน) อย่างไรก็ตาม ก๊ก มิน ตั๋ง ได้วางกำลังของตนเองไว้ที่มณฑลยูนนาน 2 กองทัพด้วยกันคือ กองทัพที่ 8 และกองทัพที่ 26 ซึ่งแต่ละกองทัพประกอบด้วย 2 กองพล โดยที่กองพล 93 เป็นหน่วยหนึ่งที่ขึ้นตรงต่อกองทัพที่ 26 ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าวไว้เพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังของอีกฝ่ายไล่ตามกองกำลังที่เคลื่อนย้ายไปยังเกาะฟอร์โมซาได้ทัน ในเวลาต่อมากองทัพที่ 8 และกองทัพที่ 26 ก็ถูกกองทัพของฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ตีแตกพ่ายและถอยลงมายังพื้นที่พม่าตอนบนใกล้กับพรมแดนมณฑลยูนนานของจีน กองทัพที่ 26 ได้ถูกกองกำลังของจีนคอมมิวนิสต์ตีแตกพ่ายอีกครั้งและได้ถอยร่นไปยังลาวและเวียดนาม อีกส่วนก็ถอยเข้ามายังรัฐฉานของประเทศพม่า ผ่านทางรัฐฉานด้านเมืองเชียงตุง แล้วผ่านมาทางขี้เหล็กของประเทศไทย โดยมีกำลังประมาณ 1,700 คน จำนวนทหารที่อยู่ในส่วนนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นกำลังพลที่มาจากหน่วยกองพล 93 ในปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา พม่าได้ทำการผลักดันกองกำลังของกองทัพที่ 26 ออกจากประเทศพม่า และส่วนหนึ่งเข้ามายังชายแดนไทย อย่างไรก็ดี สถานการณ์การเมืองที่เกาหลีนั้นได้สร้างความกังวลต่อนานาประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากสงครามเกาหลี (เกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้) ในปีพ.ศ. 2493 ทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่กระจายของคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการสร้างแนวยับยั้งคอมมิวนิสต์จากธิเบตถึงประเทศไทย และในขณะเดียวกันก็สนับสนุนทหารจีนคณะชาติในการบุกคืนสู่จีน กองพล 93 ใหม่นี้ เกิดขึ้นภายใต้การนิยามโดยพล หลี่ เหวิน ฝาน ได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวนี้ว่า “...กองพล 93 นั้นเป็นชื่อของกองพลหนึ่งในกองทัพแห่งชาติของจีน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ... เมื่อเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กองพล 93 ถูกถอนกลับหมด ... ข้าพเจ้าไม่เคยเป็นทหารประจำการอาชีพ แต่พวกข้าพเจ้าเป็นเพียงอาสาสมัคร เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตน...” กองพล 93 ใหม่นี้ได้ขยายกำลังเป็นกองทัพกู้ชาติ โดยมีนายพล หลี่ มี่ เป็นผู้บัญชาการ และมีกองกำลังสนับสนุนของหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา ในเวลาต่อมาได้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเหล่าทหารปืนใหญ่และเหล่าเทคนิค โดยจัดตั้งขึ้นที่บ้านปงป่าแขมใกล้กับชายแดนไทย คือ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางในการส่งกำลังบำรุงอีกเส้นทางหนึ่งที่นอกเหนือจากเส้นทางด้านท่าตอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2496 คณะกรรมการ 4 ชาติ กำหนดให้มีการถอนกำลังทหารของจีนคณะชาติกลับไต้หวัน หลังจากปี พ.ศ. 2504 เมื่อกองบัญชาการกองทัพสนามร่วมของนายพล หลิว เหยี่ยน หลิง ที่เมืองเชียงลับ ถูกทหารผสม จีน-พม่า บุกเข้าทำลาย ทำให้ทหารจีนคณะชาติที่อยู่ในบริเวณของรัฐฉานไม่มีฐานที่มั่นทำให้อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย
1.1 นโยบายของไทยต่อการอพยพของกองกำลังทหารจีนคณะชาติ กำลังทหารจีนคณะชาตินั้นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นโยบายของรัฐบาลไทยก่อนและหลังจากปีพ.ศ. 2501 เป็นต้นมา ได้มีการดำเนินการส่งทหารจีนคณะชาติกลับไต้หวันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 และครั้งที่สอง คือ พ.ศ. 2504 อย่างไรก็ดี ในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนี้เอง รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศเจตนาที่จะปฏิบัติการตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด และได้ยื่นคำขาดให้กองทหารจีนคณะชาติออกจากเขตแดนไทยภายใน 3 วัน อีกทั้งได้เตรียมกำลังเคลื่อนย้ายออกไป ในปี พ.ศ. 2505 ได้มีกองทหารจีนคณะชาติล้ำแดนเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมาก อีกทั้งได้ตั้งฐานที่มั่นอยู่ในเขตแดนของไทย ทำให้รัฐบาลต้องประกาศนโยบายให้ปฏิบัติต่อกองทหารจีนคณะชาติตามที่ได้ทำตามได้มีการดำเนินการทางการเมืองโดยที่ทางรัฐบาลไทยพยายามเจรจากับรัฐบาลของจีนและการทหารโดยการผลักดันให้ออกนอกประเทศ โดยจะมีการปลดอาวุธและควบคุมตัวหากไม่เดินทางออกไป ในปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลไทยได้มีมาตรการที่ใช้กับทหารจีนคณะชาติคือการดำเนินการติดต่อกับสถานฑูตของจีนอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องการควบคุม และไม่ใช้เจ้าหน้าที่รัฐบาลติดต่อกับหน่วยทหารโดยตรง เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการรับรองฐานะของกองทหารจีนคณะชาติ ทำการปราบปรามยาเสพติด เส้นทางการลำเลียงโดยดำเนินการเป็นครั้งคราว หรือในกรณีเคลื่อนย้ายอาวุธ อันอาจเป็นภัยต่อประเทศ และดำเนินการปราบปรามและจับกุมตามความเหมาะสม นอกจากนี้แล้ว ตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา กองกำลังทหารจีนคณะชาติกองทัพที่ 3 และ 5 เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการเป็นการถาวรอยู่ตามบริเวณชายแดนไทย อีกทั้งหน่วยข่าวกรองของพรรคก๊ก มิน ตั๋ง ได้เข้ามาใช้พื้นที่ของประเทศไทยในการหาข่าว นโยบายต่อมาหลังจากปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมารัฐบาลมีนโยบายที่คุมเข้มต่อกลุ่มทหารจีนคณะชาติ เนื่องจากว่าในพื้นที่ชายแดนลาวกับเขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ที่เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มจีนฮ่อ นำโดย จาง ซี ฟู (ขุนส่า) กับกองทหารจีนคณะชาติ กองทัพที่ 3 และกองทัพที่ 5 ซึ่งในความเข้าใจของคนไทยโดยทั่วไป เห็นว่ากองทัพทั้งสองนี้คือกองพล 93 อาจจะกล่าวได้ว่านโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาลไทยต่อทหารจีนคณะชาติและจีนยูนนาน ระหว่างปี พ.ศ. 2506-2510 นั้นเป็นนโยบายคุมเชิงแ