หากใครผ่านวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง แล้วไม่ได้หันกลับมามองชนิดเหลียวหลัง คงเป็นเรื่องแปลกอย่างมาก เพราะวันนี้วัดเชียงรายกำลังมีการบูรณะครั้งใหญ่ รวมไปถึงปรับภูมิทัศน์จนแทบไม่เหลือเค้าเดิม ยิ่งในยามเย็นที่แสงแดดเหลืองอุ่นทาบทาวิหารสีขาวกระจ่างตา กระจกที่ติดประดับจนทั่วนั้น ส่องสะท้อนแสงจนระยิบระยับงามจับใจนัก
พูดกันตามตรงก็คือ เราแทบนึกไม่ออกเลยว่า เดิมทีวัดเชียงรายมีศิลปะสถาปัตยกรรมอย่างไร เพราะกำแพงสูงสีขาวรอบวัดนั้น มิใช่เพียงกางกั้นสายตาของเรา แต่ยังได้ขีดเส้นแบ่งระหว่างคนกับวัดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่ ณ วันนี้ กำแพงถูกทลายลงปรับเป็นเพียงแนวกำแพงเตี้ย ๆ ดูทันสมัย เผยให้เห็นว่าภายในวัดเชียงรายมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิหารและเจดีย์ทางด้านหลัง ซึ่งได้รับการบูรณะจนดูโดดเด่นเป็นพิเศษ
ตามประวัติกล่าวว่า วัดเชียงรายสร้างขึ้นโดยเจ้าชมภู ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาเจ่ง ที่ได้อพยพจากเมืองเชียงแสนมาอยู่เมืองลำปาง พร้อมด้วยเครือญาติ หลังจากลงหลักปักฐานสร้างหมู่บ้านของตนเอง ก็ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านเชียงราย” และตามธรรมเนียมปฏิบัติของคนสมัยก่อน หลังจากสร้างชุมชนแล้ว ย่อมต้องสร้างวัดขึ้นด้วยเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ ซึ่งแน่นอน พวกเขาตั้งชื่อวัดว่า “วัดเชียงราย” เพื่อรำลึกถึงเมืองเชียงรายที่จากมานั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เจ้าชมภูไม่ได้ถูกกล่าวถึงในแง่อื่น ๆ อีก แต่ตามประวัติได้ให้ความสำคัญกับเจ้าพระยาเจ่ง ผู้เป็นบิดามากกว่า พระยาเจ่งเป็นชาวมอญ หลังจากพม่ายึดหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้ในอำนาจได้แล้ว ก็แต่งตั้งให้พระยาเจ่งเป็นผู้รักษาเมืองเชียงแสน โดยท่านเป็นต้นสกุล “คชเสนี” ฝ่ายเหนือ
ย้อนกลับมาที่วัดเชียงราย เจ้าชมภูยังเป็นผู้นำในการสร้างกำแพงเมืองรุ่นที่ 3 ตั้งแต่บ้านสวนดอกบริเวณถนนรอบเวียง ผ่านบริเวณห้าแยกหอนาฬิกา แล้ววกอ้อมมาข้างวัดเชียงราย ไปจนสุดฝั่งแม่น้ำวัง ซึ่งบริเวณห้าแยกหอนาฬิกานั้น มีประตูเมืองที่เรียกว่าประตูเชียงรายอยู่ด้วย ทั้งนี้ ประตูเชียงรายจึงร่วมสมัยกับประตูสวนดอก ประตูศรีชุม ประตูชัย ประตูศรีเกิด หออะม็อก และประตูหัวเวียง วัดเชียงรายเองก็ร่วมสมัยกับวัดสวนดอก วัดเมืองศาสน์ วัดบุญวาทย์วิหาร วัดศรีเกิด วัดเชตวัน วัดน้ำล้อม วัดคะตึกเชียงมั่น วัดป่าดัวะ และวัดบุญยืน
อย่างไรก็ตาม พระเทพวิสุทธิโสภณ (สิงห์คำ ขัติเชียงราย) อดีตเจ้าอาวาสวัดเชียงรายและอดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง เคยกล่าวไว้ว่า กำแพงเมืองด้านที่สร้างขึ้นพร้อมกับบ้านเชียงรายและวัดเชียงราย ได้ถูกรื้อถอนไปเมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นสามเณร
ในสมัยที่พระเทพวิสุทธิโสภณครองวัดเชียงรายอยู่นี้เอง ท่านได้บูรณะวัดจนเจริญรุ่งเรือง กระทั่งมาขาดช่วงไปได้ 40 กว่าปี เมื่อปี พ.ศ. 2552 พระปลัดสมโภช ฐิตะธมฺโม เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน จึงได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเชียงรายอีกครั้ง โดยท่านบอกว่า จะให้บูรณะวิหารอย่างเดียวคงไม่ได้ ทุกอย่างภายในวัดต้องได้รับการบูรณะพร้อมกันไปทั้งหมด ทั้งนี้ ท่านเจ้าอาวาสประสงค์ที่จะให้วัดเชียงรายสะอาด ร่มรื่น และสวยงาม
พระปลัดสมโภชให้ความสำคัญกับศาสนวัตถุ ที่ต้องดูงาม มั่นคง และแข็งแรง ด้านศาสนธรรม ท่านจะทำป้ายธรรมะติดไว้ตามจุดต่าง ๆ ให้พุทธศาสนิกชนได้อ่านและทำความเข้าใจ จะมีการเปิดเพลงธรรมะ มีการเทศน์ทุกวันพระ และจะจัดอบรมพุทธศาสนาแก่เยาวชนที่สนใจ ส่วนศาสนบุคคล ท่านเชื่อว่าหากบุคคลเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมค้ำจุนพระพุทธศาสนา เมื่อนั้นสังคมจะมีแต่ความสงบสุข ถึงที่สุดแล้ว พระปลัดสมโภชคาดหวังว่า ต่อไปวัดเชียงรายจะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนาและการอาชีพ
หากเข้าประตูทางด้านหลังของวัด ด้านซ้ายและด้านขวา คือ ศาลาเงินและศาลาทอง ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ เบื้องหน้าจะเห็นเจดีย์ใหญ่ มีการจำลองเจดีย์ 12 นักษัตริย์ รายล้อมอยู่ให้ได้นมัสการโดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถานที่จริง ถัดไปคือวิหารทาสีขาวที่มีทางน้ำล้อมรอบ เปรียบดังห้วงมหรรณพที่เราต้องแหวกว่ายก่อนไปถึงวิหารที่เปรียบดังการหลุดพ้น ภายนอกวิหารเราจะเห็นถึงการประดับลายปูนปั้นและกระจกชิ้นเล็กๆอย่างวิจิตร พระปลัดสมโภชกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นการปรับมากกว่า มิใช่การเปลี่ยนแปลง ภายในวิหาร ผนังรอบด้านที่เคยว่างเปล่า บัดนี้ส่วนล่างติดแผ่นไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษา ส่วนบนมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระพุทธประวัติและภาพเหมือนพระอริยสงฆ์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย
นอกจากวิหารอันน่าตื่นตาในรูปแบบศิลปะประยุกต์ วัดเชียงรายยังมีโครงการปรับปรุงหอสมุด รวมทั้งปรับปรุงกุฏิสุจิตร ปัตตะโชติ ที่เคยเป็นกุฏิของพระเทพวิสุทธิโสภณ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์พระเทพวิสุทธิโสภณ ซึ่งภายในเต็มไปด้วยของโบราณที่น่าชม น่าศึกษา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสนใจในด้านศิลปะของพระปลัดสมโภชนำมาซึ่งการประยุกต์ ดัดแปลง จนวัดเชียงรายดูร่วมสมัยขึ้นมาก ท่านนำเงินจากการทอดผ้าป่า ทอดกฐิน และเงินที่สะสมได้จากคณะศรัทธา ที่บางครั้งมาไกลจากต่างจังหวัด ต่างประเทศ มาบูรณปฏิสังขรณ์วัด ซึ่งตามกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งยังทูลเชิญพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จฯ มาทรงยกช่อฟ้า
ในวันนั้นวัดเชียงรายคงสะอาด ร่มรื่น และสวยงาม ด้วยคำว่าศรัทธา ซึ่งได้ส่งต่อกันมาตั้งแต่คนรุ่นแรกที่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อไม่ต่ำกว่า 250 ปีที่แล้ว
ท่านใดสนใจร่วมเป็นเจ้าภาพ หรือตามกำลังศรัทธาที่จะบูรณปฏิสังขรณ์วัดเชียงราย ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่วัดเชียงราย จังหวัดลำปาง โทรศัพท์ 0-5432-2598
Read more: http://www.lannapost.net/2013/08/blog-post_2512.html#ixzz38oz22RxU