ารศึกษาเป็นกระบวนการที่มุ่งพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพมีความสามารถเต็มศักยภาพ มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งสติปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การศึกษาเป็นกระบวนการถ่ายทอดและเรียนรู้ในการที่จะสร้างสรรค์และ พัฒนาคนทั้งในแง่ความรู้ ความคิด ตลอดจนคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถสนองตอบทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ ซึ่งประเทศที่ต้องการความก้าวหน้าต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนโดยอาศัยการศึกษาเป็นเครื่องมือ สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมีปัญหาเกี่ยวกับกำลังคนที่จะตอบสนองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างมาก อันสืบเนื่องมาจากระบบและวิธีการจัดการศึกษาที่ไม่สามารถสร้างและกระจายโอกาส รวมทั้งคุณภาพการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมาและการก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ในทศวรรษที่ 21 ดังนั้นระบบการศึกษาของประเทศไทยจึงถูกท้าทายจากแรงผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมค่อนข้างมาก
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ระบุว่าการจัดการศึกษา มี 3 รูปแบบที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง คือ การศึกษาในระบบที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการจัดการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน ส่วนการศึกษานอกระบบโรงเรียนเป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล โดยเนื้อหาสาระของหลักสูตรต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม และการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ
ความสำคัญของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยต่อการพัฒนาประเทศ คือ การที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสนองตอบต่อความต้องการในการเรียนรู้ของประชาชนได้อย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่นสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างหลากหลายและทั่วถึงมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่จะสร้างวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยทำให้การเรียนรู้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและแสวงหาได้โดยง่ายสำหรับประชาชนทั่วไป
มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีที่มีประโยชน์ก็ จะต้องฝึก ต้องเรียนรู้… การเรียนรู้ การฝึกฝนพัฒนานี้เป็นความพิเศษของมนุษย์ มนุษย์ที่ฝึกตนหรือมีการเรียนรู้ จึงเปลี่ยนแปลงไปและทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย…
การศึกษามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค โลกาภิวัตน์ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประชาชนในชาติจำเป็นต้องได้รับการศึกษาในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งสติปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมอันจะนำไปสู่ความเข้าแข็งของชุมชนที่ยั่งยืนและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติเท่าเทียมอารยประเทศ
สำหรับประเทศไทยการจัดการศึกษาในอดีตเป็นลักษณะการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ก่อนที่จะจัดตั้งโรงเรียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการจัดการศึกษามีวิวัฒนาการ มีการปรับเปลี่ยน ปฏิรูปให้ อนุวัตรตามสากลเรื่อยมา สำหรับการจัดการศึกษาที่ไม่ใช่การศึกษาในระบบโรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นไปตามวิถีชีวิตและรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้กำหนดชื่อเรียกที่ชัดเจน จนถึง พ.ศ. 2483 จึงได้มีการจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ที่อยู่นอกวัยเรียนขึ้น ต่อมาได้ดำเนินการทางราชการกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงเรียกว่า กองการศึกษาผู้ใหญ่ และเปลี่ยนเป็นกรมการศึกษานอกโรงเรียนในลำดับต่อมา ซึ่งการจัดการศึกษาทุกระยะล้วนให้ความสำคัญของการศึกษาต่อการพัฒนาประเทศเสมอมา พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาต่อการพัฒนาประเทศ โดยกำหนดไว้ในหมายเหตุว่า…สมควรให้มีกฎหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้เป็นไปอย่างมีระบบและต่อเนื่อง มีการบริหารและจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้ และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้ตามศักยภาพ เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญา อันจะมีผลในการพัฒนากำลังคนและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
กล่าวโดยสรุปได้ว่า การศึกษาความมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาเปรียบประดุจเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพของคน ซึ่งหากสังคมหรือประเทศใดประชาชนโดยเฉลี่ยมีการศึกษาอยู่ในระดับต่ำสังคมหรือประเทศนั้นก็จะด้อยการพัฒนากว่าสังคมหรือประเทศที่ประชาชนโดยเฉลี่ยมีการศึกษาอยู่ในระดับสูง