ปัจจุบันการใช้งานผลิตภัณฑ์พลาสติกในรูปของฟิล์มเป่า สามารถพบเห็นได้มากมาย เช่น ถุงร้อน ซองยา ถุงซิปล๊อค ฟิล์มหด ฉลากสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้กระบวนการเป่ามีข้อดีเหนือกว่ากระบวนการอัดรีดฟิล์มทางด้านของการกำหนดหน้ากว้างฟิล์มได้ง่ายกว่าและสามารถผลิตฟิล์มที่มีความบางได้ดีกว่า ดังนั้น ในงานวิจัยนี้จึงสนใจผลิตฟิล์มด้วยกระบวนการเป่า โดยเล็งเห็นว่าหากพัฒนาฟิล์มรูพรุนจากพลาสติกเชิงพาณิชย์ที่มีอยู่ได้สำเร็จ ย่อมเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการค้า และสามารถนำไปใช้งานที่เฉพาะทางมากขึ้น เช่น ฟิล์มกรอง ฟิล์มห่อหุ้มผักผลไม้ ฟิล์มซับน้ำมัน ฟิล์มที่มีรูพรุนขนาดเล็กสามารถเตรียมได้โดยอาศัยหลักการของผสมที่ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อออกแรงดึงจะทำให้เกิดรอยแยกระหว่างวัฏภาคที่ทำให้มีรูพรุนขนาดเล็กเกิดขึ้น จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า สามารถใช้สารตัวเติมในสถานะที่ต่างจากพอลิเมอร์เมทริกซ์ โดยสารตัวเติมสามารถเป็นได้ทั้งของเหลวและของแข็ง เช่น มิเนอรัลออยล์ พาราฟินแว๊กซ์ ปิโตรเลียมเจล แคลเซียมคาร์บอเนต และซิลิกอนไดออกไซด์ เป็นต้น ทั้งนี้การใช้พอลิเมอร์ผสมก็เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ เนื่องจากสามารถขึ้นรูปโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการผสมซึ่งต่างจากกรณีสารตัวเติมอื่นๆ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาฟิล์มพอลิโพรพิลีนให้มีรูพรุนโดยใช้พอลิเอทิลีนร่วมอยู่ด้วย โดยพอลิเมอร์ทั้งสองจัดเป็นพอลิเมอร์เชิงพาณิชย์ที่มีราคาถูกและมีการประยุกต์ใช้ในรูปของฟิล์มอย่างกว้างขวาง เมื่อพิจารณาโครงสร้างของพอลิเอทิลีนพบว่าจำแนกได้เป็น 4 ชนิดหลัก คือ ชนิดความหนาแน่นสูง ชนิดความหนาแน่นต่ำ ชนิดความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น และพอลิเอทีลีนแวกซ์ ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อความเข้ากันได้กับพอลิโพรพิลีนที่แตกต่างกัน ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นศึกษาชนิดของพอลิเอทิลีนและภาวะการขึ้นรูปที่ส่งผลต่อสมบัติด้านแรงดึง สัณฐานวิทยา และความเป็นรูพรุนของฟิล์มเป่าที่เตรียมได้