บทนำ
ปัจจุบันการประเมินโครงการมีความสำคัญมากเนื่องจากการประเมินโครงการเป็นเครื่องมือและยุทธศิลป์ที่สำคัญของฝ่ายบริหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นิยมใช้กันในประเทศต่างๆอย่างกว้างขวาง มีบทบาทในการตรวจสอบและตัดสินคุณค่าในทุกขั้นตอนของกระบวนการวางแผน ช่วยให้ผู้บริหารทราบบริบท สถานการณ์ ผลลัพธ์ และผลกระทบของโครงการ ผู้ประเมินผลโครงการมีบทบาทสำคัญในการค้นหาคำตอบมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (สิน พันธุ์พินิจ, 2556)
โครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ เป็นโครงการ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544ในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาล และต่อมาได้ขยายไปยังพื้นที่ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งเป็นบทบาทใหม่ของตำรวจในการป้องกันอาชญากรรมในเชิงรุกอย่างแท้จริง โดยเน้นการป้องกันอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของประชาชนที่จำเป็นต้องปิดบ้านทิ้งไว้ในช่วงวันหยุดยาว ทั้งเทศกาลวันขึ้นปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนผู้อยู่อาศัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและในเขตปริมณฑลจำนวนมากต่างพากันเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางไปพักผ่อนเที่ยวตามสถานที่ต่างๆทำให้บ้านพักอาศัยที่ปิดทิ้งไว้โดยไม่มีคนเฝ้ากลายเป็นเป้าหมายของคนร้ายที่อาศัยช่วงโอกาสดังกล่าวเข้าไปโจรกรรมทรัพย์สินต่างๆภายในบ้านได้โดยง่าย ซึ่งการปฏิบัติงานที่ผ่านมาแม้จะยังไม่มีผลการประเมินโครงการไว้อย่างชัดเจน แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่า ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานตามโครงการนี้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสามารถลดสถิติการเกิดคดีโจรกรรมทรัพย์สินในเคหสถานในช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม (พงศพัศพงษ์เจริญ, 2555)
จะเห็นได้ว่าการประเมินโครงการมีความสำคัญเนื่องจากจะทำให้ทราบถึงผลของการดำเนินโครงการว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร มีอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานเพื่อที่จะได้หาทางแก้ไขต่อไป ผู้วิจัยจึงทำการประเมินโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่เขตนครบาล วันที่ 10-16 เมษายน ปี 2558 โดยใช้รูปแบบ CIPP ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam,1971) ซึ่งเป็นการประเมินสภาพแวดล้อม(Context) การประเมินปัจจัยนำเข้า(Input) การประเมินกระบวนการ(Process) และการประเมินผลผลิต (Product)