วิวัฒนาการของการแลกเปลี่ยนสินค้า ในปัจจุบันนี้ถือได้ว่ามี 3 ระยะนั่นคือ การแลกเปลี่ยนสินค้าโดยตรง (Barter System) คือ การนำเอาผลผลิตมาแลกเปลี่ยนกันโดยตรง เช่น นำไข่ไปแลกกับข้าวสาร เป็นต้น แต่ระบบนี้มีปัญหาตรงที่ควรจะแลกขนาดไหน เช่น ถ้าข้าวสารจำนวนเท่านี้ ควรจะแลกไข่ได้เท่าใด จึงเกิด การแลกเปลี่ยนสินค้าโดยใช้เงินเป็นสื่อกลาง (Money System) คือ การใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้านั่นเอง เช่น เงิน 20 บาท สามารถซื้อสมุดได้ 1 เล่ม เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการซื้อขายสินค้าเป็นจำนวนมาก หรือผู้ซื้อยังมีเงินไม่เพียงพอต่อการแลกเปลี่ยนขณะนั้น จึงมีการแลกเปลี่ยนซึ่งต้องใช้ความไว้วางใจต่อกันและกัน นั่นคือ การแลกเปลี่ยนสินค้าโดยใช้สินเชื่อหรือเครดิต (Credit System) เช่น การเช่าซื้อ(ผ่อนส่ง) การใช้เช็ค บัตรเครดิต เป็นต้น ทั้งสองอย่างหลังถือเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าทางอ้อม สุดท้ายในการค้าสมัยใหม่นี้จึงเกิดการแลกเปลี่ยนที่เรียกว่า การค้าแบบหักบัญชี (Account Trade) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยการผสมผสานการแลกเปลี่ยนสินค้าทั้งสามแบบเข้าด้วยกัน
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเหรียญกษาปณ์ เกิดขึ้น ในวิวัฒนาการระยะที่สองคือ การแลกเปลี่ยนสินค้าโดยใช้เงินเป็นสื่อกลาง (Money System) นั่นเอง
วิวัฒนาการเหรียญกษาปณ์ไทย
ในช่วงแรกของการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยใช้เงินเป็นสื่อกลางนั้น ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรฟูนัน และสืบต่อมาในสมัยอาณาจักรทวารวดี และศรีวิชัย แต่ละยุคสมัยมีการปรับเปลี่ยนกันขึ้นมามีอำนาจ และมีการทำเงินตรารูปแบบต่าง ๆ ขึ้นมาใช้ในยุคของตน
จวบจนถึงสมัยอาณาจักรสุโขทัยต่างก็ยังไม่ได้ใช้เหรียญกษาปณ์ หากแต่ยังใช้สิ่งของอย่างอื่นในการแลกเปลี่ยน ซึ่งหาได้ หรือทำได้ง่ายๆ เช่น เงินพดด้วง(เงินคดด้วง หรือเงินกลม) ดัดแปลงมาจากเงินขอม(เงินแท่ง) และมอญ(เงินเหรียญ) หอยเบี้ย นอกเหนือจากนั้น ยังมีการใช้เงินตราแลกเปลี่ยนกันภายนอกประเทศ หรือมีอิทธิพลจากต่างชาติอีกด้วย เช่น เงินลานนา-เงินอานม้า เป็นเงินจีนนิยมใช้กันแถบยูนาน และใช้กันลงมาถึงภาคเหนือของไทย ใช้เงินพดด้วงจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์
และสุดท้ายหลังจากรัชกาลที่ 4 จึงใช้เริ่มใช้เหรียญกษาปณ์นั่นเอง
ฟูนัน
-สมัยอาณาจักรฟูนันหรือพนม เงินตราสมัยอาณาจักรฟูนันหรือพนม ใช้ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทยคลุมตลอดไปจนถึงทางตอนใต้ลุ่มแม่น้ำโขง มีการใช้เหรียญเงินรูปอาทิตย์อุทัยแบบเดียวเป็นเงินตราที่สำคัญ 3 ขนาด ในประเทศไทยมีการขุดพบเหรียญเงินฟูนันที่จังหวัดปราจีนบุรี ชลบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี และลพบุรี เป็นจำนวนมาก และพบตลอดลงไปจนถึงในภาคใต้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่เป็นชนิดทำด้วยดีบุก ด้วยการหล่อจากแม่พิมพ์ เงินตราฟูนันมีลักษณะเป็นเหรียญเงินกลมแบนมี 3 ขนาด ด้านหนึ่งภายในวงกลมชั้นในเป็นรูปอาทิตย์อุทัยครึ่งดวงแผ่รัศมีโดยรอบ คั่นด้วยจุดไข่ปลา ส่วนวงกลมชั้นนอกประดับด้วยจุดไข่ปลาโดยรอบเช่นกัน อีกด้านหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ศรีวัตสะ(รูปสัญลักษณ์มงคลเกี่ยวกับคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู) ด้านบนเป็นพระอาทิตย์และพระจันทร์ มีสวัสดิกะและภัทรบิฐ(แท่นสําหรับเทพบดี หรือพระราชาประทับ)ขนาบที่ด้านข้าง ด้านล่างสุดเป็นจุดกลม 3 จุด
ทวารวดี
-สมัยอาณาจักรทวารวดี เงินตราสมัยอาณาจักรทวารวดีซึ่งใช้ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง บริเวณจังหวัดนครปฐม ใช้เหรียญเงินเป็นเงินตราสำคัญ มีอยู่หลายขนาดและรูปแบบที่แสดงถึงการนับถือพระพุทธศาสนา มีการใช้เหรียญทองคำเช่นกัน ระบบการผลิตเหรียญเงินยังคงเป็นระบบการตอกตรา จึงทำให้เหรียญมีลักษณะโค้งแบบก้นกระทะ นอกจากเหรียญที่เป็นเงินตราแล้ว ยังผลิตเหรียญที่มีตัวอักษร ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเหรียญที่ระลึกอีกด้วย เงินตราทวารวดีมีลักษณะเป็นเหรียญกลมมีทั้งชนิดเนื้อทองคำและเนื้อเงิน มีหลายรูปแบบและขนาด ส่วนมากประทับตราสังข์ล้อมด้วยจุดไข่ปลา อีกด้านหนึ่งเป็นรูปปราสาท มีวิวัชระอยู่ภายใน ประกอบด้วยแส้และขอช้างที่ด้านข้าง มีพระอาทิตย์ พระจันทร์อยู่ด้านบน มีปลาหรือน้ำอยู่ด้านล่าง มีเหรียญอีกกลุ่มหนึ่งที่มีข้อความเป็นอักษรสันสกฤตโบราณว่า ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ แปลว่าบุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี และบางเหรียญมีข้อความว่า ศรี สุจริตวิกรานต แปลว่าวีรบุรุษผู้สุจริตอยู่ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปแม่วัวลูกวัว กาลาสะหรือบูรณกลศ ธรรมจักร สังข์ กวาง
ศรีวิชัย2
-สมัยอาณาจักรศรีวิชัย เงินตราสมัยอาณาจักรศรีวิชัย นิยมใช้ในเมือง ได้แก่ เมืองไชยา นครศรีธรรมราช ตลอดลงไปจนถึงเมืองปาเล็มบังในเกาะสุมาตรา มีการค้าทางทะเลเป็นสำคัญ อาณาจักรนี้ใช้เหรียญที่ผลิตจากโลหะทองคำ เงิน และอิเล็กตรัม ประทับตรา ดอกจัน ด้านหน้า อีกด้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตคำว่า วร เรียกว่า เงินดอกจัน มีลักษณะเหมือนเหรียญเงินของชาวลิเดีย อาณาจักรต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังอาณาจักรในยุคแรกที่ผลิตเหรียญขึ้นใช้นั้น แม้ว่าต่างก็มีระบบเงินตราเป็นของตนเองทั้งในแหลมมลายู สุมาตรา และชวา ก็ตาม แต่ก็ยังคงแสดงถึงอิทธิพลการออกแบบที่มาจากอารับ อินเดีย และจีน ซึ่งเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขายด้วย เหรียญเงินกลมมีตราดอกจันรูปสี่เหลี่ยมประทับไว้ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นอักษรสันสกฤตโบราณคำว่า วร แปลว่า ประเสริฐ เงินตราศรีวิชัยมีทั้งเนื้อเงิน ทอง และอิเล็กตรัมและมี 3 ขนาดเช่นกัน โดยที่ยังไม่พบเงินตราในรูปแบบอื่น จึงเชื่อว่าอาณาจักรแห่งนี้ผลิตเงินตราขึ้นใช้เพียงแบบเดียว
อยุธยา
-สมัยอาณาจักรสุโขทัย ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1-3 ใช้ เงินพดด้วง ซึ่งนับเป็นเงินตราไทยโดยแท้ พดด้วงที่ใช้ในรัชสมัยนี้มีลักษณะเป็นก้อนกลม ทำด้วยโลหะเงิน ปลายขางอเข้าหากันเป็นปลายแหลม มีรูขนาดใหญ่ระหว่างขา มีตราประทับเพื่อแสดงถึงแหล่งผลิตตั้งแต่ 1 ตรา ไปจนถึง 7 ตราส่วนใหญ่ตราที่พบได้แก่ ตราราชสีห์ ช้าง หอยสังข์ ธรรมจักร บัว กระต่าย และราชวัตร นอกจากนี้ ยังพบว่าในสมัยสุโขทัยมีการนำโลหะชนิดอื่นซึ่งไม่ใช่โลหะเงิน เช่น ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี มาหลอมให้มีลักษณะคล้ายพดด้วงแต่มีขนาดใหญ่กว่า เรียกแตกต่างกัน เช่น พดด้วงชิน เงินคุบ เงินชุบ หรือเงินคุก รวมทั้งการใช้เบี้ยเป็นเงินปลีกสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าราคาต่ำด้วย