ประเทศไทยในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมาก็นิยมปลูกยางพารากัน ทั้งภาคอีสานและภาคเหนือ ยังนึกในใจว่ายางพารานั้นปลูกได้แต่ที่ภาคใต้ของไทย ที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย เพราะยางพาราต้องการภูมิอากาศที่ฝนชุก ความชื้นสูง
ที่เมืองไทยนอกจากภาคใต้ ก็มีภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง และตราด
เมื่อไปเห็นสวนยางที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ที่ประเทศลาว และที่ยูนนาน ประเทศจีน ก็นึกในใจอยู่แล้วว่า เมื่อต้นยางพาราที่ปลูกใหม่นี้สามารถกรีดเอาน้ำยางได้ ปริมาณน้ำยางก็คงจะล้นตลาด นึกเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลา แต่คิดว่าเศรษฐกิจของจีน อินเดีย และรัสเซีย คงจะขยายตัวต่อไป ขณะเดียวกันราคาน้ำมัน ก็คงจะไม่อ่อนตัวลงเพราะถ้าราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลง ราคายางเทียมหรือยางสังเคราะห์ ก็จะอ่อนตัวด้วย ทำให้ราคายางธรรมชาติ อ่อนตัวตามลงไปตามกัน
เหตุการณ์ก็เป็นเช่นนั้น เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง เศรษฐกิจรัสเซียและจีนมีปัญหา สหรัฐอเมริกาและยุโรปก็ยังไม่ฟื้นตัว ความต้องการซื้อยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ยางพาราก็ลดลง ราคายางพาราก็พลอยร่วงลงไปอย่างรวดเร็วด้วย
ปัญหาของสินค้าเกษตรกรรมที่เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นพืชล้มลุกอย่าง ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือพืชยืนต้น เช่น ผลไม้ต่างๆ รวมทั้งยางพารา และการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ สุกร ล้วนเป็นไปตามกฎหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์
กฎหรือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ว่าก็คือ เมื่อราคาสินค้าประเภทนี้สูงขึ้น เกษตรกรก็หันมาปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้นพร้อมๆ กัน เพราะเห็นเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้มากขึ้น
เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ปริมาณสินค้าก็จะออกมาพร้อมๆ กัน ทำให้มีสินค้าล้นตลาด เมื่อสินค้าล้นตลาดราคาก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับเกษตรกรผู้ผลิตอย่างมาก
เมื่อราคาลดลงติดต่อกันสักพัก เกษตรกรก็ลดการปลูกหรือปริมาณสัตว์ที่เลี้ยงลง สินค้าก็จะเริ่มขาดตลาดราคาก็จะเริ่มสูงขึ้นหรือเกิดกรณีที่เศรษฐกิจของภูมิภาคหรือของโลกฟื้นตัวขึ้น ความต้องการสินค้าก็เริ่มสูงขึ้น ราคาก็ถีบตัวสูงขึ้น
แต่เศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจของโลกก็มีวัฏจักร เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเฟื่องฟูขึ้น การลงทุนก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ตลาดอิ่มตัว การลงทุนมากเกินตัว เศรษฐกิจก็ชะลอตัวแล้วก็กลายเป็นเศรษฐกิจขาลง
ดังนั้น วัฏจักรทางด้านการผลิต วัฏจักรทางด้านความต้องการของตลาด จึงเป็นปัจจัยสำคัญทั้ง 2 ด้าน ที่ทำให้ราคามีขึ้นมีลงเป็นวัฏจักร สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรผู้ผลิตอยู่เป็นประจำ เป็นปรากฏการณ์ที่เราจะพบเห็นอยู่เสมอถ้าเราสังเกต
ยางพาราก็เป็นพืชที่ไม่พ้นไปจากกฎทางเศรษฐศาสตร์เช่นว่านี้ เราเคยเห็นราคายางตกต่ำมาแล้วหลายรอบในช่วง 20 ปีมานี้ ราคายางพาราตกต่ำจนประเทศมาเลเซียสนับสนุนให้เกษตรกรของเราเปลี่ยนสวนยางมาเป็นสวนปาล์มน้ำมันแทน ไทยเราก็ทำบ้างบางส่วน
สำหรับสินค้าเกษตรอย่างอื่น เกษตรกรอาจจะปรับตัวได้ง่าย เช่น สุกร ไก่ วัฏจักรราคาอาจจะไม่ยาว 2-3 ปีมีครั้งหนึ่งเพราะการเพิ่มการผลิตทำได้เร็ว สำหรับไก่ก็ไม่กี่เดือน สำหรับสุกรก็ไม่นาน แต่สำหรับไม้ยืนต้นอาจจะนาน
ยางพาราตั้งแต่เริ่มปลูกจนสามารถกรีดเอาน้ำยางต้องใช้เวลาถึง 6 ปี เมื่อต้นยางโตพอที่จะกรีดน้ำยางได้ก็พอดีถึงวัฏจักรราคา อยู่ในช่วงขาลงพอดี การปรับตัวก็อาจจะทำได้ยากเพราะเกษตรกรได้ลงทุนมาแล้วเป็นเวลานาน
กิจการสวนยางเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เมื่อปลูกจนโตแล้วก็ต้องใช้แรงงานกรีดยาง ลำพังตัวเกษตรกรเองไม่สามารถจะกรีดยางในสวนของตนได้หมด อีกทั้งบุตรหลานที่มีการศึกษาสูงๆ ก็ไม่นิยมกลับบ้านไปกรีดยาง ดังนั้น การกรีดยางจึงต้องอาศัยแรงงานจากภายนอก และวิธีจ้างก็ไม่มีอะไรดีกว่าการแบ่งผลผลิตกัน เช่น 60-40 หรือ 50-50 แทนที่จะจ้างด้วยการออกค่าจ้าง เช่น การจ้างเกี่ยวข้าว หรือหักข้าวโพด
การปรับตัวต่อราคาจึงมีเพียงจะกรีดยางมากหรือน้อยเท่านั้นในระยะแรก เมื่อเศรษฐกิจภาคใต้เจริญขึ้น แรงงานที่เข้ามากรีดยางก็มักจะเป็นแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเจริญขึ้น แรงงานจากภาคอีสานมีน้อยลง แรงงานจากประเทศพม่าและอินโดนีเซียก็มาแทนที่
ขณะนี้แรงงานในภาคอีสานและภาคเหนือก็กลับไปปลูกยางพาราที่บ้าน เมื่อต้นยางโตพอจะกรีดได้ก็คงมีปัญหาอย่างเดียวกัน จะหาแรงงานจากที่ไหนมากรีด ถ้าราคายางพาราอยู่ในระดับเกินกว่า 100 บาท รายได้จากการรับจ้างกรีดก็คงจะพอเป็นแรงจูงใจให้มีคนทำ แต่ถ้าราคายางพาราในตลาดโลกตกต่ำลงมาอยู่ในระดับ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม ปัญหาก็คงจะเกิดขึ้นทันที
สวนยางที่ประเทศลาวจำนวนมากก็ไม่มีแรงงานเพียงพอที่จะกรีด คงต้องใช้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำการกรีดเช่นเดียวกับประเทศไทย
การกรีดยางก็ไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้ ยังต้องใช้คนเดินกรีด และเดินเก็บน้ำยางไปทีละต้น ไม่เหมือนการปลูกข้าว ข้าวโพดและมันสำปะหลังรวมทั้งถั่วเหลือง ที่สามารถใช้เครื่องจักรมาแทนแรงงานได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าประเทศไทยของเรา ซึ่งเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานแล้วในขณะนี้ มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในภาคเศรษฐกิจใช้แรงงานมาก ในอนาคตจะทำอย่างไร
ถ้าพม่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศหลังจากที่ได้เปิดประเทศ และแรงงานจากพม่ากลับบ้าน ไปทำงานที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว เราจะยังสามารถรักษากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานมากๆ เช่น การทำสวนยางไว้ได้หรือไม่ หรือถ้าพม่าเริ่มปลูกยางพาราบ้างเช่นเดียวกับ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชาและจีน ทำและดูดแรงงานไว้ที่บ้านเขา เราจะทำอย่างไร
สถานการณ์ที่ว่าจะมีทั้งวัฏจักรราคา อันเกิดจากการขึ้นลงของเศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก การเพิ่มขึ้นของค่าแรงงานในประเทศ ในขณะที่ระยะยาวราคาที่แท้จริงของสินค้าเกษตร กล่าวคือราคาของสินค้าปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อไม่เพิ่มแต่กลับตกลง รวมทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้นในระยะยาว อนาคตของยางพาราซึ่งเป็นต้นไม้ยืนต้น มีวัฏจักรปรับตัวจากปริมาณน้อยหรือช้ากว่าสินค้าอื่นๆ น่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน
เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดขึ้นในปี 2558 ที่จะมีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรหลายๆ อย่าง สินค้าทุกอย่างถ้าจะไปรอดคงต้องปล่อยให้การผลิต การส่งออกและราคาเป็นไปตามกลไกตลาด รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงคงต้องใช้งบ