พระราชกรณียกิจด้านวิศวกรรมการต่อเรือ
ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ประพาสยุโรปใน พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น พระองค์ได้ทอดพระเนตรกิจการต่อเรือของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งที่ประเทศเยอรมนี และได้มีพระราชดำริว่ากองทัพเรือไทยน่าจะต่อเรือประเภทนี้ไว้ใช้ในราชการเองบ้าง เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของประทศ
เมื่อเสด็จฯ กลับจากการประพาสยุโรปครั้งนั้นแล้ว ได้มีพระราชปรารภเรื่องการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลังจากนั้นกระทรวงกลาโหมก็ได้มอบหมายให้กรมอู่ทหารเรือของกองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการต่อเรือดังกล่าว โดยเริ่มจากเรือ ต. ๙๑ ใน พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นลำแรก เรือลำนี้นายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศเป็นผู้ออกแบบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานความช่วยเหลือประการต่าง ๆ เช่น ทรงสั่งเอกสารวิชาการต่อเรือจากต่างประเทศมาให้ศึกษา ทรงติดต่อกับสถาบันวิจัยและทดลองแบบเรือแห่งชาติของอังกฤษให้ช่วยทดสอบแบบให้จนเป็นที่พอใจ ได้เสด็จฯ ไปเป็นประธานในพิธีวางกระดูกงูเรือ และเมื่อมีการต่อเรือเสร็จแล้ว ก็ได้เสด็จฯ ไปทอดประเนตรการทดสอบเรือด้วยพระองค์เอง อีกทั้งได้พระราชทานข้อคิดเห็นในการแก้ไขข้อบกพร่องทางเทคนิคของเรือ จนกระทั่งเรือสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นก็ได้มีการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งในชุดนี้ (แต่เปลี่ยนชื่อเป็น “เรือตรวจการใกล้ฝั่ง”) อีก ๘ ลำคือเรือ ต. ๙๒ ถึง ต. ๙๙ สำหรับลำสุดท้าย คือเรือ ต. ๙๙ นั้น มีกำหนดให้เสร็จทันวาระเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ใน พ.ศ. ๒๕๓๐ นี้