เก้งหม้อมีลักษณะทั่วไปคล้ายเก้งธรรมดาแต่สีเข้มกว่า หนักประมาณ 18-21 กิโลกรัม ความยาวลำตัว 88 เซนติเมตร สีตามลำตัวเป็นสีน้ำตาลเข้มอมเหลือง สันหลังเข้มกว่าที่อื่น ๆ หน้าท้องสีขาว หางยาว 23 เซนติเมตร หางด้านบนสีดำ ใต้หางสีขาว ขาท่อนล่างจนถึงกีบสีดำ หน้าสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นสีดำลากจากโคนเขามาจนถึงหัวตาดูเป็นรูปตัววี ใบหูไม่มีขน มีต่อมน้ำตาใหญ่ยาว ปลายด้านชี้ไปที่ลูกตามีขอบนูนสูง เก้งหม้อตัวผู้มีเขี้ยวยาวไว้ใช้ต่อสู้ เขี้ยวโค้งออกด้านหน้าเช่นเดียวกับเก้งทั่วไป
เก้งหม้อตัวผู้มีเขาสั้น เขาแต่ละข้างมีสองกิ่ง กิ่งหน้าสั้นกว่ากิ่งหลัง โคนเขามีขนดำหนาคลุมรอบ ระหว่างโคนเขามีขนสีเหลืองฟูเป็นกระจุก จึงมีชื่ออีกชื่อว่า “กวางเขาจุก”
เก้งหม้ออาศัยอยู่ในเทือกเขาตระนาวศรีชายแดนไทย-พม่า ในประเทศไทยพบที่ตาก ราชบุรี
สุราษฎร์ธานี ไม่พบในคาบสมุทรมลายู แต่คาดว่าน่าจะพบในลาวและเวียดนามด้วย มักพบอยู่ในป่าดิบทึบบนภูเขา ในประเทศจีนพบอยู่ในป่าบนภูเขาที่มีป่าสนกับป่าพืชใบกว้างหรือป่าไม้พุ่มผสมกันที่ระดับความสูง 2,500 เมตร
เก้งหม้อหากินตอนกลางวันและโดยลำพังตามพื้นที่เปิดโล่งระหว่างแหล่งน้ำ กินหญ้า ใบไม้ และผลไม้ที่ตกบนพื้น
แม่เก้งหม้อตั้งท้องนาน 180 วัน ออกลูกตามพุ่มไม้ทึบ ลูกเก้งจะซ่อนอยู่ในพุ่มไม้จนกระทั่งเริ่มจะเดินตามแม่ได้
คาดว่าประชากรเก้งหม้อมีจำนวนน้อยมาตั้งแต่ครั้งอดีตแล้ว ยิ่งในปัจจุบันเก้งหม้อประสบภัยคุกคามมากขึ้นทั้งจากการล่าเพื่อนำไปทำอาหาร และที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ป่าที่อยู่ของเก้งหม้อหลายพื้นที่ได้สูญหายไปตลอดกาลจากการสร้างเขื่อนหลายแห่ง ประชากรที่น้อยอยู่แล้วจึงยิ่งน้อยลงไปอีกจนกลายเป็นสัตว์หายาก ในหลายพื้นที่เก้งหม้ออยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ในประเทศไทย เก้งหม้อเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535