การปฏิบัติในท่าไหว้ประกอบด้วยกิริยา ๒ ส่วน คือ การประนมมือและการไหว้
การประนมมือ (อัญชลี) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือให้นิ้วมือทั้งสองข้างชิดกัน ฝ่ามือทั้งสองประกบเสมอกันแนบหว่างอก ปลายนิ้วเฉียงขึ้นพอประมาณ แขนแนบตัวไม่กางศอก ทั้งชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน การประนมมือนี้ใช้ในการสวดมนต์ ฟังพระสวดมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา ขณะสนทนากับพระสงฆ์ รับพรจากผู้ใหญ่ แสดงความเคารพผู้เสมอกัน และรับความเคารพจากผู้อ่อนอาวุโสกว่า เป็นต้น
การไหว้ (วันทนา) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือแล้วยกมือทั้งสองขึ้นจรดใบหน้าให้เห็นว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง การไหว้แบบไทย แบ่งออกเป็น ๓ แบบ ตามระดับของบุคคล
ระดับที่ ๑ การไหว้พระ ได้แก่ การไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วแนบส่วนบนของหน้าผาก
ระดับที่ ๒ การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพนับถือ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว
ระดับที่ ๓ การไหว้บุคคลทั่ว ๆ ไป ที่เคารพนับถือหรือผู้มีอาวุโสสูงกว่าเล็กน้อย โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก