3 การเตรียมวัสดุสีที่ใช้ Preparing Finishing Materials (13)
• ตรวจสอบความถูกต้องของวัสดุสีที่จะนำมาใช้ในการผสม ให้แน่ใจก่อนที่จะทำการผสมว่าได้นำสีและส่วนผสมอื่นๆที่ใช้ในการผสม เช่น ความเงา ถูกต้อง รหัสถูกต้อง ทินเนอร์ ตัวที่เลือกใช้ หรือส่วนผสมอื่นที่ใช้เตรียมไว้ถูกต้องแล้วจึงทำการผสม
• หลังจากตรวจสอบความถูกต้องแล้ว ก่อนทำการผสมนั้นให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัทสีที่แนะนำมาเสียก่อน เช่นตัวสีก่อนผสมต้องมีการกวนหรือคนสีให้เข้ากันดีเสียก่อนจึงเทใส่ภาชนะที่จะใช้ผสม เนื่องจากสีที่เก็บไว้จะมีการตกตะกอนเป็นชั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติแต่เราต้องเข้าใจ และทำตามให้ถูกต้องเป็นต้น
• อายุการเก็บรักษา นี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ใช้ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะวัสดุสีแต่ละตัว แต่ละชนิดมีอายุการเก็บรักษา ที่เรียกกันว่า Shelf Life ที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปสีที่มีส่วนผสมของสารละลายจะมีอายุการเก็บรักษาหนึ่งปี แต่ถ้าเป็นสีที่มีส่วนผสมของน้ำจะมีอายุการเก็บที่สั้นกว่า (ส่วนใหญ่อยู่ที่ 6 เดือน) เป็นต้น ดังนั้นผู้ใช้ต้องนำสีที่มาก่อนใช้ก่อนมาทีหลังใช้ทีหลัง (First In, First Out) โดยผู้ใช้สามารถดูจากวันที่การผลิตที่เรียกกันว่า Production Date และ ล็อตการผลิต หรือ Batch No. ได้จากฉลากข้างกระป๋องซึ่งมีกำกับทุกยี่ห้ออยู่แล้ว
4 ตัวเร่งทำให้แห้งแข็ง ที่นิยมเรียกกันว่า Hardener
• สีที่มีมากกว่าหนึ่งส่วนในการแห้งตัวต้องมีตัวเร่งทำปฏิกิริยาให้เกิดการแห้งและแข็งตัวโดยสมบูรณ์ เช่นสีประเภท AC, PU และ PE เป็นต้น
• การใช้ตัวเร่งต้องตรวจสอบให้ดีเนื่องจากตัวเร่งมีหลายชนิดควรทำความเข้าใจและใช้ให้ถูกต้อง ตามสัดส่วนและปริมาณที่ผู้ผลิตกำหนด
• การเติมตัวเร่งหรือผสมตัวเร่งที่ไม่ถูกต้องตามที่ผู้ผลิตกำหนด จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆเช่น ถ้าเป็นสี AC มีส่วนผสมของตัวเร่งมากเกินไปจะทำให้ผิวงานแตกร่อนหลังการแห้งตัวได้ระยะหนึ่ง หรือตัวเร่งส่วนเกินจะระเหิดออกในรูปแบบของการเกิดคราบเหงื่อหลังจากบรรจุแล้วหนึ่งเดือน หรืออีกตัวอย่างของปัญหาคือเฉดสีเพี้ยนไปจากเดิมเป็นต้น
• อายุการใช้หลังผสมตัวเร่ง Pot life สีที่ผสมตัวเร่งแล้วจะมีอายุที่สั้นลงในการจัดเก็บจึงต้องทำความเข้าใจกับการใช้ตัวเร่งของสีแต่ละชนิด เพื่อป้องกันการสูญเสีย
5 ความหนืด Viscosity
โดยทั่วไปสีที่ผู้ผลิตส่งให้กับทางโรงงานนั้น มีความหนืดที่อยู่ในระดับที่สูงเกินไปไม่สามารถพ่นได้ด้วยปืนพ่นสีทั่วไปเนื่องจากสีที่ทางผู้ผลิตเตรียมไว้ เป็นความหนืดที่ครอบคลุมถึงการใช้สำหรับอุปกรณ์ หรือเครื่องทำสีที่แตกต่างกันไปของแต่ละโรงงาน ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นความหนืดมาตรฐานเดียวกันได้ อีกทั้งสภาพอากาศก็มีผลต่อความหนืดด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้ผลิตสีจึงทำความหนืดที่สูงขนาดครอบคลุมให้ได้มากที่สุดแล้วทางผู้ใช้สามารถลดความหนืดได้เองง่ายๆโดยการเติมทินเนอร์ เพื่อให้ความหนืดที่ต้องการ การลดความหนืดง่ายมากแต่การเพิ่มความหนืดยากกว่าจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้ผลิตสีเลือกการทำความหนืดสูงไว้ก่อน
6 การตรวจสอบความหนืด (Viscosity Check)
รายละเอียดของความหนืดที่พอเหมาะสำหรับการทำงานขึ้นอยู่กับวิธีการ และอุปกรณ์การทำสีที่แตกต่างกัน มักจะมีการแจ้งไว้อยู่ในใบรายละเอียดทางเทคนิคของแต่ละบริษัทสีอยู่แล้ว แต่ในการใช้งานผู้ใช้ควรตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอว่าได้ผสมสีตามความหนืดที่ถูกต้อง
ภาพที่ 2.3 แสดงถ้วย Din Ford Cup#4 ใช้ในการวัดความหนืด (16)
ความหนืด (1)
โดยปกติทั่วไปจะใช้ มาตรฐานอยู่ 2 มาตรฐานคือ 1.ถ้วยวัดความหนืด มาตรฐานยุโรป DIN Cup ซึ่งจะมีรูขนาด 4 มิลลิลิตร และ 2.มาตรฐานที่ใช้ทั่วไปในเอเชียตามมาตรฐานญี่ปุ่น คือถ้วย IWATA NK 2 ที่มีรูขนาด 4 มิลลิลิตรเช่นกัน การตรวจวัดความหนืดจะวัดโดยการเติมส่วนผสมสีลงในถ้วยตวง วัดจับเวลาที่ใช้จนกว่าถ้วยตวงจะว่างเปล่า เวลาที่ใช้เป็นวินาที และการที่จะกำหนดความหนืดมาตรฐาน จะมีกำหนดที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เพราะ อุณหภูมิ มีผลต่อการวัดความหนืดถ้าสีเคลือบไม้ ได้รับการเก็บในที่เย็นหรืออุณหภูมิต่ำ เนื้อสี จะมีความหนาข้นกว่าและต้องใช้ทินเนอร์มาทำละลายมากกว่า สีเคลือบไม้ที่เย็นเกินไปจะทำให้เกิด สีบาง (Thin Coating) สีแตก (Blistering) และของเสียในแบบอื่น ๆ หลังการผสม
ในโรงงานที่ใช้เครื่องเคลือบสีชนิดม่านน้ำตก ที่เรียกกันว่า Curtain Coater หรือเครื่องเคลือบสีชนิดลูกกลิ้ง หรือ Roller Coater ควรตรวจสอบความหนืดเมื่อเริ่มทำงาน - ขณะทำงาน - หลังจากหยุดพัก และเมื่อมีการเติมเนื้อสี หรือทินเนอร์ ลงไปในเครื่องเคลือบสีแต่ละครั้ง จะต้องใช้ถ้วยวัดความหนืดทำการวัดความหนืดให้ได้มาตรฐานกำหนดเพื่อให้ได้ ชิ้นงานที่ได้คุณภาพคงที่ เนื่องจากอากาศในเมืองไทยมีอุณหภูมิที่สูงสีที่ใช้ในเครื่อง 2 ชนิดนี้มักจะมีความเปลี่ยนแปลงเรื่องความหนืด
การวัดความหนืดหลังผสมสีเสร็จต้องปล่อยให้ส่วนผสมคงตัวสักครู่ ก่อนที่จะใช้ถ้วยวัดความหนืดตรวจสอบความหนืด ทั้งนี้เพื่อเป็นการปล่อยให้อากาศหรือฟองอากาศที่ปนเข้าไปในสีระหว่างการปั่นกวนหรือคนสี ได้ออกจากส่วนผสมเสียก่อน ตรงนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อใช้กับเครื่องเคลือบสีแบบม่านน้ำตก หรือ Curtain Coater เมื่อฟองอากาศติดเข้าไป จะทำให้ม่านแตกออกหรือ การแตกตัว หรือมีฟองอากาศในชั้นสี
ภาพที่ 2.4 แสดงวิธีการวัดความหนืดด้วยถ้วยวัดความหนืดชนิด NK2 (11)