ไหมเป็นเส้นใยธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มนุษย์รู้จักนำมาถักทอเป็น “ผ้านุ่ง” มานานนับพันปี กระบวนการผลิตสิ่งทอจากเส้นไหม นับจากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ฟอกล้างกาวไหม ย้อมสีตามลวดลายที่ต้องการโดยใช้วิธีการมัดหมี่ มัดย้อม จุ่มสีหรือแต้มสีตามความถนัด ต่อเนื่องสู่กระบวนการถักทอเส้นไหมให้เป็นผืนผ้า ทั้งการทอลาย ขัดพื้นฐาน การจก การยก การขิด การเกาะล้วง ตามภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมมา จนได้ผืนผ้าไหมที่งดงาม ทั้งผ้าพื้นเรียบ ผ้ามัดหมี่ ผ้ามัดย้อม ผ้ายก ผ้าจก ผ้าขิด ฯลฯ ผ้าทอแต่ละผืนจะมีลวดลายเฉพาะถิ่น บ่งบอกถึง กลุ่มชาติพันธุ์ อันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน คือมรดกทางวัฒนธรรม ที่มีคุณค่าทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ จังหวัดนครราชสีมา หรือเมืองโคราช ตามคำเรียกขานของคนทั่วไป ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเส้นไหมและผ้าไหมที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียงมาแต่โบราณ ดังบันทึกทางประวัติศาสตร์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา (อ้างในผ้าไทย หน้า 49) เขียนไว้ว่า “อนึ่งที่บ้านศาลาเกวียนนั้น มีศาลาเก้าห้อง สองหลัง สำหรับเกวียนเมืองนครราชสีมา บรรทุกสินค้าต่าง ๆ คือ น้ำรัก ขี้ผึ้ง ปีกนก ผ้าตาราง ผ้าสายบัวสีคืบหน้าเก็บทอง และผ้าตาบัวปอก ตาเล็ดงา หนังเนื้อ เย็นเนื้อ ดีบุก หน่องา และของป่าต่าง ๆ .... นอกจากนี้ยังมีเขียนถึง ตลาดย่านค้าขายในเมืองอยุธยาว่า “ถนนย่านป่าไหม และย่านป่าเหล็ก ต่อกันอยู่คนละฟากถนน ซีกหนึ่งมีร้านขายไหมกรุยฟืน ไหมเบญจพรรณ ไหมลาว ไหมเขมร และ ไหมโคราช (สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม 8 หน้า 27-83)
จากบันทึกดังกล่าวแสดงถึงเมืองโคราชเป็นแหล่งผลิตเส้นไหม ตามครัวเรือนต่าง ๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เหลือจึงแบ่งปันพี่น้อง และขาย โดยมีพ่อค้าคนกลางที่เรียกว่า “นายฮ้อย” เป็นผู้รวบรวมเส้นไหม บรรทุกเกวียน พร้อมกับสินค้าอื่น ๆ ไปขายที่กรุงศรีอยุธยา จึงได้ชื่อเรียกเฉพาะว่า “ไหมโคราช” เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์ มีอิทธิพลมายังภาคอีสาน เมืองโคราชก็ได้ส่ง เส้นไหม และผ้าไหมไปขายที่กรุงเทพด้วย สำหรับผ้าโบราณตามบันทึกที่กล่าวไว้ คือ ผ้าสายบัว ผ้าตาบัวปอก ตาเล็ดงา ไม่พบผู้ใดทอแล้ว ยังคงเหลือเพียง ผ้าตาราง หรือ ผ้าโสร่ง และ ผ้าขาวม้า เท่านั้น การผลิตผ้าไหมในจังหวัดนครราชสีมา กระจายอยู่ทั่วไปในหลายอำเภอ เช่น อำเภอคง อำเภอสีดา อำเภอบัวใหญ่ อำเภอบัวลาย อำเภอห้วยแถลง อำเภอประทาย อำเภอจักราช ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตผ้าไหมประเภทหัตถกรรม คือ ผลิตตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของกลุ่มชนไทยลาว ไท-เขมร ทอด้วยกี่พื้นบ้าน ที่ใต้ถุนบ้าน ในยามว่างจากงานในไร่นา บางหมู่บ้านที่มีการรวมกลุ่มทอผ้าที่เข้มแข็ง สมาชิกอาจมาทอผ้ารวมกันที่กลุ่ม ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการผลิตและการขายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมีผ้าพื้นเรียบ ผ้ามัดหมี่ ผ้าโสร่ง ผ้าหางกระรอก ผ้าขิด ผ้าทอยกดอก ฯลฯ มีทั้งทอไว้ใช้ ทอเพื่อขายในตลาดท้องถิ่น ตลาดระหว่างจังหวัด และตามคำสั่งซื้อของพ่อค้าคนกลาง หน่วยงานราชการหลายหน่วย ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ได้ส่งเจ้าหน้าที่นักวิชาการ เข้ามาให้ความช่วยเหลือ พัฒนาความรู้ ทักษะ ให้กับกลุ่มทอผ้าฯ เหล่านี้ อย่างสม่ำเสมอ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่จะได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ระดับ 3-5 ดาว และได้รับตรานกยูงพระราชทานสีเงิน สีน้ำเงิน ด้วย ที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมทั้งแบบหัตถกรรม และอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงมาก ทำให้คนทั่วไปมักจะเรียกผ้าไหมของจังหวัดนครราชสีมา โดยรวมว่า “ผ้าไหมปักธงชัย” (ควรเรียกว่า “ผ้าไหมโคราช จะเหมาะสมกว่า) กระบวนการผลิตผ้าไหมของผู้ประกอบการที่อำเภอปักธงชัย เป็นการผลิตที่ทันสมัย ใช้ไหมโรงงาน ย้อมสีเคมี ทอด้วยกี่กระตุก หรือทอด้วยเครื่องจักร มีรูปแบบลวดลายสีสัน ทันสมัย ตรงความต้องการของผู้บริโภค มีทั้งผ้าไหมพื้นเรียบ ผ้าไหมมัดหมี่ประยุกต์ ผ้าไหมบาติก ผ้าไหมพิมพ์ลาย เพื่อนำไปตัดเสื้อผ้า ทำเครื่องใช้ตกแต่งบ้าน เช่น บุผนัง บุเฟอร์นิเจอร์ ทำผ้าม่าน ฯลฯ ส่งขายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้ให้การส่งเสริม สนับสนุนทั้งในด้านการพัฒนาความรู้ทักษะ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหม การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การตลาด และการแปรรูปผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
ประเภทผ้าไหมของจังหวัดนครราชสีมา มีดังนี้
1. ผ้าตาราง (ตะราง / โสร่ง) เป็นผ้าที่ทอกันมาแต่โบราณ ถือเป็นผ้าผืนสำคัญ ผืนหนึ่งของครอบครัวร่วมกับผ้าขาวม้า และผ้าหางกระรอก ที่ผู้เป็นภรรยา ลูก หลานผู้หญิงจะต้องทอไว้ให้พ่อบ้าน ปู่ ตา พี่น้อง ผู้ชายไว้ใช้ อาจทอด้วยเส้นไหม หรือเส้นฝ้ายก็ได้ ลักษณะของผ้าตารางหรือผ้าโสร่ง จะมีลักษณะเป็นตาตารางใหญ่ สี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลายสี ทั้งแดง เขียว เหลือง น้ำเงิน สลับกันตลอดทั้งผืน ขีดคั่นระหว่างตาตารางสีใหญ่นั้นด้วย ริ้วขีดคั่นสีแดง หรือสีขาวหรือสีเหลือง เป็นเส้นเล็ก ๆ ทั้งผืน ผ้าตาราง หรือผ้าโสร่งนี้จะมีหน้ากว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร แล้วเย็บเข้าด้วยกันเป็นถุง คล้ายกับผ้าซิ่นของผู้หญิง โทนสีของผ้าจะมี 2 โทน คือ ผ้าโสร่งแดง จะมีสีสันสดใส สำหรับผู้ชายที่มีอายุไม่สูงนัก ไม่เกิน 40 ปีแต่ถ้าเป็นผู้ชายสูงวัยจะใช้ผ้าโทนสีเข้ม เรียกว่า ผ้าโสร่งดำ ผ้าโสร่งส่วนใหญ่ จะทอด้วย เส้นไหมลูกลายหรือเส้นไหมหางกระรอก เนื้อผ้าในลายตารางจึงมีสีเหลือบลายคล้ายเส้นขนของหางกระรอก จึงเรียกว่า ผ้าโสร่งไหมหางกระรอก ชาวนครราชสีมานิยมใส่ลำลองอยู่บ้านและไปวัด