สมาชิกภายในช่องทางเดียวกันจะต้องพยายามจัดการให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันเกิดความสมดุลย์ ทั้งในด้านความขัดแย้งและความร่วมมือ เพื่อที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจแก่สมาชิกในช่องทางแต่ละราย เพราะถ้าหากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับสูงแล้ว การแก้ไขความขัดแย้งก็จะต้องอาศัยทักษะทางด้านการเจรจา ทักษะทางด้านมนุษย์สัมพันธ์ และทักษะทางด้านการติดต่อสื่อสารที่สูงขึ้นตามไปด้วย
Philip Kotler (1997 : 556 – 557) ได้เสนอแนวทางในการจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ระหว่างสมาชิกภายในช่องทาง ออกเป็น 6 แนวทาง ดังนี้
1. การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน (supercoordinate goals)
แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งตามวิธีนี้ สามารถทำได้โดยสมาชิกภายในช่องทางการตลาดเดียวกัน มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ขึ้นมาร่วมกัน เช่น การกำหนดส่วนแบ่งการตลาด การกำหนดคุณภาพของสินค้าและการให้การบริการ การกำหนดวิธีการตอบสนองความพึงพอใจของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นต้น วิธีการแก้ไขแบบนี้จะก่อให้เกิดการทำงานที่มีความสนิทสนมกันมากขึ้น เกิดความร่วมมือกันมากขึ้น เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในช่องทาง ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานภายในช่องทางมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในช่องทางด้วยกันในระยะยาวต่อไป
2. การแลกเปลี่ยนบุคลากร (exchange of persons)
แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งตามวิธีนี้ สามารถทำได้โดยสมาชิกในช่องทางแต่ละระดับ มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน โดยสมาชิกในช่องทางรายหนึ่งรายใด มีการจัดส่งบุคลากรของตนเองเข้าไปทำงานร่วมกับบุคลากรภายในหน่วยงานของสมาชิกอื่นในช่องทางเดียวกัน เป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งผลของการได้ทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรจะทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานของแต่ละฝ่ายได้เป็นอย่างดี หากมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งเกิดขึ้นก็สามารถที่จะแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว
3. การเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมการค้าต่างๆ (joint membership in trade associations)
แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งตามวิธีนี้ เป็นวิธีการที่สมาชิกในช่องทางแต่ละรายเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะสมาชิกของสมาคมการค้าต่าง ๆ ที่ได้จัดตั้งขึ้นมา ผลของการเข้าไปเป็นสมาชิกในสมาคม จะทำให้สมาชิกในช่องทางแต่ละรายมีโอกาสพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น ทำให้เป็นประโยชน์ในการร่วมมือกันบริหารงาน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งการช่วยแก้ไขหรือขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในช่องทางได้ด้วย
4. การใช้วิธีการทางการฑูต (diplomacy)
แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งตามวิธีนี้ ทำได้โดยสมาชิกในช่องทางที่เกิดความขัดแย้งกัน จัดส่งบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นตัวแทนของตนเองไปเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นตัวแทนของคู่กรณี ตามวัน เวลา และสถานที่ที่ได้ตกลงกันไว้ ลักษณะของวิธีการแบบนี้จะเป็นการเจรจาแบบการเผชิญหน้า ซึ่งแต่ละฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนหรือรับฟังเหตุผลข้อโต้แย้งของแต่ละฝ่ายได้ทันที ทำให้สามารถหาข้อยุติของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น
5. การใช้ผู้ไกล่เกลี่ย (intermediaries)
แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งวิธีนี้ จะเป็นการใช้คนกลางหรือบุคคลที่สามเข้ามาช่วยแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งแบ่งออกได้ 2 วิธี
5.1 การใช้คนกลาง (mediation) วิธีการจัดการความขัดแย้งวิธีนี้ ทำได้โดยสมาชิกในช่องทางที่เกิดความขัดแย้งกันมีการตกลงที่จะให้มีคนกลางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ โดยคนกลางอาจจะเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรภายนอกก็ได้ มาทำหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
5.2 การใช้อำนาจทางกฎหมาย (arbitration) วิธีการจัดการความขัดแย้งวิธีนี้ ทำได้เมื่อสมาชิกในช่องทางที่เกิดความขัดแย้งกัน ต่างฝ่ายต่างใช้วิธีการแก้ไขความขัดแย้งโดยอาศัยอำนาจทางกฎหมายที่ได้กำหนดเอาไว้ เช่น การฟ้องร้องต่อศาล เป็นต้น