ผลดีต่อสุขภาพ
มะละกอมีไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล และเกลือโซเดียมต่ำ เป็นแหล่งที่ดีของเส้นใยอาหาร ธาตุโพแทสเซียม วิตามินเอ ซี และโฟเลต แต่ร้อยละ 92 ของพลังงานจากมะละกอสุกมาจากคาร์โบไฮเดรต ผู้ที่ควบคุมอาหารแป้งและน้ำตาลจึงไม่ควรกินมะละกอมากเกินไป
สีแดงอมส้มที่พบในมะละกอสุกแสดงว่า มะละกอสุกมีสารไลโคพีนซึ่งเป็นสารช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย
มะละกอสุกอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ แคโรทีน วิตามินซี สารฟลาโวนอยด์ สารโฟเลต กรดแพนโทเทนิก ธาตุโพแทสเซียม แมกนีเซียม และเส้นใยอาหาร สารอาหารเหล่านี้บำรุงสุขภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด และป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่อีก ด้วย นอกจากนี้มะละกอมีเอนไซม์ปาเปน สามารถนำมาใช้ด้านการแพทย์เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บทางการกีฬา
นอกจากนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอินสบรุ๊ค ประเทศออสเตรีย พบว่ามะละกอมีสารต้านอนุมูลอิสระ สูงสุดเมื่อสุกงอม เนื่องจากคลอโรฟิลล์สีเขียวเปลี่ยนเป็นสารไม่มีสีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอย่างเยี่ยมยอดอีกชนิดหนึ่ง เรียก NCCs (nonfluorescing chlorophyll catabolytes) สะสมบริเวณเปลือกผลและใต้ผิวเปลือก เวลาปอกมะละกอสุกจึงไม่ควรกรีดริ้วบริเวณใต้เปลือกเพราะจะสูญเสียคุณค่าอาหารนี้ไป
ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
มะละกออาจช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งตัวและโรคหัวใจที่มีสาเหตุจากโรคเบาหวานได้ดี มะละกอมีวิตามินซี วิตามินอีและวิตามินเอ (ในรูปของสารแคโรทีนอยด์) ซึ่งเป็นสารอนุมูลอิสระที่มีความสำคัญช่วยป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระของคอเลสเตอรอล เชื่อว่าวิตามินซีและอีช่วยการทำงานของเอนไซม์พาราออกโซเนสซึ่งหยุดการเกิดอนุมูลอิสระของคอเลสเตอรอล
เส้นใยอาหารในมะละกอช่วยลดคอเลสเตอรอลส่วนกรดโฟลิกใช้เปลี่ยนกรดอะมิโฮโมซิสเทอีนเป็นกรดอะมิโนซิสเทอีนที่ไม่มีพิษภัยอะไร ถ้ามีโฮโมซิสเทอีนอยู่มากกรดอะมิโนนี้จะทำลายผนังหลอดเลือด เกิดความเสี่ยงของอาการหัวใจวายหรือหลอดเลือดสมองอุดตันได้
ช่วยระบบทางเดินอาหาร
สารอาหารในมะละกอช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ลำไส้ใหญ่ เส้นใยอาหารจากมะละกอสามารถจับกับสารพิษก่อมะเร็งในลำไส้ใหญ่และพาส่งออกทำให้เกิดการสัมผัสกับเซลล์ลำไส้ใหญ่น้อยที่สุด และสารโฟเลต บีตาแคโรทีน วิตามินซีและอี ที่พบในมะละกอ จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยลดการถูกทำลายของสารพันธุกรรมในเซลล์ดังกล่าวด้วยอนุมูลอิสระ
ฤทธิ์ต้านอักเสบ
มะละกอมีเอนไซม์ปาเปนและไคโมปาเปนช่วยย่อยโปรตีน เอนไซม์เหล่านี้สามารถช่วยลดการอักเสบและกระตุ้นการสมานแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้ งานวิจัยจากประเทศมาเลเซียพบว่า สารสกัดจากเปลือกผลมะละกอดิบเร่งอัตราเร็วของการสมานแผลในหนูทดลองได้เร็วกว่าการใช้ยาทา Solcoseryl ถึง 1 สัปดาห์
บีตาแคโรทีน วิตามินซีและอีในมะละกอก็มีฤทธิ์ลดการอักเสบเช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคข้อเสื่อม และข้ออักเสบรูมาตอยด์จะได้ประโยชน์จากการกินมะละกอเพื่อลดอาการของโรคดังกล่าว ปัจจุบันมีการใช้เอนไซม์จากมะละกอดังกล่าวผลิตเป็นยาเม็ด ลดอาการบวม การอักเสบจากบาดแผลหรือการผ่าตัดแล้ว
ช่วยระบบภูมิคุ้มกัน
ร่างกายมนุษย์สามารถเปลี่ยนบีตาแคโรทีนที่ได้จากมะละกอสุกเป็นวิตามินเอและซีได้ เนื่องจากร่างกายต้องการวิตามินทั้งสองเพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ให้ทำหน้าที่ได้ราบรื่น จึงพบว่าการกินมะละกอ เป็นประจำอาจลดความถี่การเกิดไข้หวัดและการติดเชื้อในช่องหูได้
การป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อม
งานวิจัยตีพิมพ์ในต่างประเทศกล่าวว่าการกินผลไม้ 3 ครั้งต่อวันอาจลดความเสี่ยงของอาการภาวะจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ อันเป็นสาเหตุของการเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ เนื่องจากคนไทยกินมะละกอ ทั้งดิบหรือสุกอยู่เป็นปกติ ดังนั้นเราจึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าวลดลงในยามชรา
ป้องกันโรคถุงลมปอดโป่งพองและมะเร็งปอด
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยรัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกาพบว่า สารก่อมะเร็งจากบุหรี่ (benzo(a)pyrene) ทำให้เกิดการขาดวิตามินเอในสัตว์ทดลองที่ได้รับอาหารปกติ และเกิดอาการถุงลมปอดโป่งพอง แต่สัตว์ที่ได้รับวิตามินเอปริมาณมากแต่ได้รับสารดังกล่าวไม่พบว่ามีอาการถุงลมปอดโป่งพอง
ผู้วิจัยจึงเชื่อว่าผู้ที่สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่เป็นนิตย์ควรป้องกันตนเองโดยการกินอาหารที่มีวิตามินเอสูงเป็นประจำ และมะละกอสุกก็เป็นหนึ่งในอาหารดังกล่าว
เมล็ดมะละกอใช้รักษามะเร็ง
ที่ประเทศอินเดียกล่าวสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ ว่าเมล็ดมะละกอใช้รักษาโรคมะเร็งได้ งานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นรายงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2550 นี้ว่า เมล็ดมะละกอมีเอนไซม์ไมโรซิเนส และสารเบนซิลกลูโคซิโนเลตในปริมาณมาก
สารเบนซิลกลูซิโนเลตนี้ส่วนใหญ่พบในพืชวงศ์คะน้า มีฤทธิ์ขับไล่สัตว์กินพืชในธรรมชาติ แต่มนุษย์ย่อยสารนี้โดยใช้เอนไซม์ไมโรซิเนส ได้สารต้านมะเร็ง งานวิจัยยังพบว่าสารสกัดเฮกเซนของเมล็ดมะละกอมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารซูเปอร์ออกไซด์ และมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งแบบอะป๊อปโทซิส จะเห็นว่าเมล็ดมะละกอมีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้จริงตามภูมิปัญญาการแพทย์อินเดีย แต่ต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะมีการพัฒนาเป็นยาแผนปัจจุบันได้ต่อไป