ประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ทรงลงมือกำจัดจลาจลที่เกิดขึ้นในช่วงสิ้นสุดกรุงธนบุรีสำเร็จแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นมา และได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีด้วย โดยทรงพระนามให้ตนเองว่า “ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของราชวงศ์อันยิ่งใหญ่ที่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
สภาพภูมิประเทศของกรุงรัตนโกสินทร์
ภูมิประเทศของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ในบริเวณแหลมที่ยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก และมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าให้ขุดคูพระนครขึ้นตั้งแต่บริเวณบางลำภูไปจนถึงวัดเลียบ ซึ่งมีผลให้กรุงรัตนโกสินทร์มีสภาพคล้ายกับเกาะสองชั้น ในขณะเดียวกัน ก็โปรดให้มีการสร้างพระบรมมหาราชวังแบบง่ายๆขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย ส่วนกำแพงของพระนครนั้นก็สร้างจากอิฐของกรุงศรีอยุธยา
และเนื่องจากกรุงรัตนโกสินทร์ มีชัยภูมิในการป้องกันข้าศึกชั้นเยี่ยม ทั้งมีแม่น้ำเจ้าพระยาขวางกั้นทางด้านตะวันตก และมีกรุงธนบุรีที่ดัดแปลงเป็นค่ายคอยต้านข้าศึกเอาไว้ ทำให้พม่าไม่สามารถยกทัพมาบุกกรุงรัตนโกสินทร์ได้เลยสักครั้ง
กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะหมายถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเชื่อมต่อระหว่างประวัติศาสตร์ยุคเก่าและประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ที่มีการพัฒนาประเทศไป ตามอารยธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก หากกล่าวถึงความรุ่งเรืองในด้านต่างๆในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สามารถแบ่งได้มีดังนี้
การปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ จะไม่เปลี่ยนแปลงจากสมัยอยุธยาเท่าไรนัก กล่าวคือ ยังคงมีพระมหาษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดในการปกครองประเทศอยู่ ส่วนการปกครองส่วนกลาง จะแบ่งลักษณะได้ดังนี้ คือ
อัครมหาเสนาบดีแบ่งออกเป็น 2 ตำแหน่ง ได้แก่
สมุหกลาโหม ถือเป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร และทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้
สมุหนายก ถือเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน และทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ
จตุสดมภ์ แบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การดูแลของสมุหนายก จตุสดมภ์ แบ่งออกเป็น เสนาบดีกรมเมือง เสนาบดีกรมวัง เสนาบดีกรมคลัง และ เสนาบดีกรมนา
กฎหมายที่ใช้ในการปกครองในยุคสมัยนี้ ก็ถือเลียนแบบอย่างจากกฎหมายสมัยอยุธยาและสมัยธนบุรี แต่ได้นำมาปรับแก้ไขให้ทันยุคทันสมัยขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 1 เรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า “กฎหมายตราสามดวง” อันได้แก่ ตราราชสีห์ ตราคชสีห์ และตราบัวแก้ว ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ก็ถูกใช้กันมาอย่างยาวนานจนถึงในสมัยของรัชกาลที่ 5
กรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
ประวัติศาสตร์ไทยช่วงนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ และมีการทำ “สนธิสัญญาเบาริง” ในสมัยรัชกาลที่ 4เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักได้ถึงภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งกำลังไล่คุกคามประเทศต่างๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น รัชกาลที่ 4 จึงทรงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายมาเป็นการคบค้ากับชาติตะวันตกมากขึ้น เพื่อความอยู่รอดของประเทศจึงได้ทำ ‘สนธิสัญญาเบาริง’ กับประเทศอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นโดยมี เซอร์ จอห์น เบาริงเข้ามาเป็นราชทูตเจรจากับไทย
ด้านกฎหมายและการศาลในสมัยรัตนโกสินทร์
รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้ตรากฎหมายขึ้นหลายฉบับ เพื่อทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กฎหมายมรดก สินสมรส เป็นต้น ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มี “กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์” ผู้เป็นพระบิดาแห่งกฎหมายไทย เป็นบุคคลสำคัญในการปฏิรูปกฎหมายและการศาลในหลายๆด้าน