คำกริยา คือ คำที่แสดงอาการหรือบอกสภาพของประธานในประโยค คำกริยาแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ
กริยาที่มีความหมายสมบูรณ์ หรือ อกรรมกริยา คือ กริยาชนิดนี้จะมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเองโดยไม่ต้องมีกรรมมารับ เช่น
กริยาแสดงอาการ กริยาบอกสภาพ
น้องนอนเปล อากาศวันนี้ร้อน
แมวกระโดด เธอดีต่อเพื่อนทุกคน
เขานั่งหน้าบ้าน ถนนราชดำเนินกว้างมาก
เด็กนักเรียนโตๆ ว่ายน้ำ ทะเลในภาคใต้สวยจริงๆ
ข้อสังเกต
คำกริยาเป็นคำที่ชี้บ่งความหมายสำคัญในประโยค คำใดที่เอาออกจากประโยคแล้ว ประโยคนั้นไม่มีความหมายบริบูรณ์ แสดงว่าคำนั้นเป็นคำกริยา
คำกริยา นั่ง นอน ไป มักใช้ติดกับคำนาม แต่นามนั้นไม่ใช่กรรม สังเกตได้จากการเติมบุพบทลงหน้านาม เช่น น้องนอนในเปล เขานั่งบนเก้าอี้ เธอไปที่ศาลากลางจังหวัด
คำกริยาบอกสภาพจะมีลักษณะคล้ายคำวิเศษณ์ แต่ถ้านำคำกริยาบอกสภาพออกจากประโยคแล้ว ข้อความนั้นจะเป็นคำหรือกลุ่มคำเท่านั้น
กริยามีกรรม หรือ สกรรมกริยา คือ กริยาที่ต้องมีกรรมมารับข้างท้ายจึงจะได้ความบริบูรณ์ เช่น
คนตีกลองเสียงดัง
เพื่อนบ้านของฉันชอบเธอ
เขาเห็นรถไฟขบวนยาว
สวนขนัดนี้มีมะม่วงหลายชนิด
ข้อสังเกต
คำกริยาชนิดนี้สามารถตั้งคำถามในใจได้ว่า ตีอะไร ชอบอะไร เห็นอะไร มีอะไร
มีคำกริยาบางคำอาจเป็นได้ทั้งอกรรมกริยาและสกรรมกริยา เช่น
ประตูบานนี้ปิด (อกรรมกริยา)
ฉันปิดประตูบานนี้ (สกรรมกริยา - ถามว่าปิดอะไร)
กริยาที่ต้องมีนามหรือสรรพนามมาเป็นส่วนเติมเต็ม เรียกเป็นศัพท์ว่า วิกตรรถกริยา คือ กริยาที่ยังไม่มีความบริบูรณ์ต้องมีนามหรือสรรพนามมารับข้างท้ายจึงจะได้ความ เช่น
เขาเป็นโฆษกของรัฐบาล
เสียงของเขาเหมือนเธอ
คะแนนของนารีเท่าวิมล
ท่าทางของเขาคล้ายศรราม
ลดาวัลย์คือชื่อไม้เถาชนิดหนึ่ง
ลบองแปลว่าแบบ
ข้อสังเกต
คำกริยาชนิดนี้มีใช้ไม่มาก คำที่ต้องจำ ได้แก่ เป็น เหมือน คล้าย เท่า คือ ถ้าคำในชุดนี้อยู่ในประโยคที่มีกริยาสำคัญแล้ว ต้องสังเกตว่าคำชุดนี้ไม่ใช่คำกริยา อาจทำหน้าที่เป็นคำขยายก็ได้ เช่น
เขาเป็นครู (วิกตรรถกริยา)
เขาทำงานเป็น (คำขยาย)
คำช่วยกริยา หรือกริยานุเคราะห์ คือ คำกริยาที่ใช้ประกอบกริยาสำคัญในประโยคให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น คำกริยาชนิดนี้ ได้แก่ กำลัง คง ควร เคย จง จะ จัก ได้ ถูก พึง ย่อม ควรจะ น่าจะ ต้อง ฯลฯ เช่น
มาลีกำลังมาโรงเรียน
คุณพ่อต้องไปทำงานแต่เช้า
เขาย่อมรู้อยู่แก่ใจ
เราพึงทำความดีเพื่อความดี
เธอน่าจะเป็นครู
ใครจะกินอะไรบ้าง
ข้อสังเกต
คำกริยาชนิดนี้สามารถนำออกจากประโยคได้โดยประโยคยังมีความบริบูรณ์อยู่ เพียงแต่ขาดความชัดเจนไปบ้าง
คำกริยาบางคำอาจเป็นได้ทั้งกริยาแท้และคำช่วยกริยา ทั้งนี้ต้องดูการใช้ในประโยคด้วย สังเกตได้คือถ้าเป็นคำช่วยกริยาต้องมีกริยาแท้อยู่ติดกับคำช่วยกริยา ถ้าไม่มีกริยาแท้อยู่ในประโยค คำกริยานั้นเป็นกริยาแท้ เช่น
ฉันต้องทำงาน (คำช่วยกริยา)
เขาต้องตัวฉัน (สกรรมกริยา)
สุภาพได้รับของแล้ว (คำช่วยกริยา)
สุภาพได้คะแนนเต็ม (สกรรมกริยา)
เขาถูกดุ (คำช่วยกริยา)
เลยข้อนี้ถูก (อกรรมกริยา)
หน้าที่ของคำกริยา
คำกริยามีหน้าที่ดังนี้
เป็นตัวแสดงหรือบอกสภาพของประธานในประโยค เช่น
เด็กๆ อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ (ตัวแสดง)
แม่ครัวไปตลาดทุกวันเสาร์ (ตัวแสดง)
กระเป๋าใบนี้หนักสำหรับเด็กเล็กๆ (บอกสภาพ)
เสียงวิทยุที่บ้านนี้ดังมาก (บอกสภาพ)
ทำหน้าที่ขยายนามที่อยู่ข้างหน้า เช่น
ของในถุงนี้เป็นของใส่บาตร
พ่อซื้อตุ๊กตาเดินได้ให้ลูกสาว
เสียงตะโกนของเขาดังมาก
ทำหน้าที่เหมือนนาม เช่น
เขาไม่ชอบดื่มสุรา
พูดมากมักมีเรื่องมาก
กินของเผ็ดมักปวดท้อง
ออกกำลังกายทุกวันจะมีสุขภาพดี