เหล็กกล้าไร้สนิม เป็นเหล็กที่มีส่วนผสมของโครเมียมเป็นธาตุเจือหลัก โครเมียมมีคุณสมบัติในการต้านทานการกัดกร่อน โดยการสร้างฟิล์มโครเมียมออกไซด์ที่ผิวปกป้องที่ผิว แต่เมื่อได้รับความร้อนสูงและเป็นเวลานาน ทำให้เกิดโครเมียมคาร์ไบด์ตามขอบเกรน ส่งผลต่อความต้านทานการกัดกร่อนของเหล็กกล้าไร้สนิมลดลง
โครงงานนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบของโครเมียมคาร์ไบด์ที่มีผลต่อความต้านทานการกัดกร่อนและคุณสมบัติทางกลของเหล็กกล้าไร้สนิมออสเตนิติก AISI 304, 304H, 321H และ 316 เริ่มจากการอบชิ้นทดสอบเพื่อให้เกิดโครเมียมคาร์ไบด์ขึ้นตามขอบเกรน โดยทำการอบที่อุณหภูมิ 3 อุณหภูมิ คือ 550Oซ, 650Oซ และ 750Oซ ระยะเวลาในการอบชุบแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ 2, 4, และ 6 ชั่วโมง จากนั้นก็ปล่อยให้เย็นตัวในอากาศ นำมาตรวจสอบโครงสร้างจุลภาคโดยใช้กรดกัดสี ทดสอบการขาดโครเมียมโดยใช้เทคนิคโพเทนทิโอไดนามิกส์ รีแอกติเวชั่น ทดสอบคุณสมบัติทางกลโดยใช้การทดสอบความแข็งแบบวิกเกอร์ส และการทดสอบแรงดึง
จากการศึกษาพบว่า การตรวจสอบโครงสร้างจุลภาค ขนาดของเกรนมีขนาดไม่แตกต่างกัน ชิ้นทดสอบ 304 ยิ่งอุณหภูมิสูงและเวลานานขึ้น เปอร์เซ็นต์การขาดโครเมียมสูงขึ้นตามอุณหภูมิและเวลาที่เพิ่มขึ้น ชิ้นทดสอบ 304H ที่อุณหภูมิ 550Oซ และ 650Oซ อุณหภูมิสูงและเวลานานขึ้น เปอร์เซ็นต์การขาดโครเมียมสูงขึ้น แต่ที่อุณหภูมิ 750Oซ เปอร์เซ็นต์การขาดโครเมียมต่ำสุด ชิ้นทดสอบ 321H เปอร์เซ็นต์การขาดโครเมียมเกิดขึ้นบ้าง ส่วนชิ้นทดสอบ 316 เปอร์เซ็นต์การขาดโครเมียมไม่เกิดเลย ผลการขาดโครเมียมที่มีผลต่อคุณสมบัติทางกลคือค่าความแข็งมีค่าไม่แตกต่างกัน แต่ความต้านแรงดึงครากจะมีความสัมพันธ์กับการขาดโครเมียมที่ชัดเจน คือยิ่งเปอร์เซ็นต์การขาดโครเมียมมากขึ้นค่าความต้านแรงดึงครากจะลดลงในชิ้นงานทั้ง 3 ชนิด