ย่างกุ้ง[3] (พม่า: ရန်ကုန်; MLCTS: rankun, ออกเสียง: [jàɴɡòʊɴ] ยานโกน; "อวสานสงคราม"[4]) หรือ ร่างกุ้ง (อังกฤษ: Rangoon) อดีตเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำย่างกุ้ง ห่างจากอ่าวเมาะตะมะ (Gulf of Martaban) ประมาณ 30 กิโลเมตร
ย่างกุ้งเดิมเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ได้รับการบูรณะให้เป็นเมืองสำคัญและสถาปนาชื่อโดยพระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงศ์อลองพญา ปัจจุบันมีประชากร 4,504,000 (พ.ศ. 2543), และตั้งอยู่ที่ 16°48' เหนือ, 96°9' ตะวันออก (16.8, 96.15) เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่เมืองอื่น ๆ ในเอเซียอาคเนย์แล้ว ย่างกุ้งค่อนข้างจะพัฒนาช้ากว่าเมืองอื่นๆในภูมิถาค จึงมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า ในปัจจุบันมีการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามา (จากประเทศสิงคโปร์และประเทศจีน) ตึกที่อยู่อาศัยหลายชั้นหลายแห่งได้ถูกสร้างใหม่หรือปรับปรุงใหม่ อย่างไรก็ดี การปรับเมืองเข้าสู่ปัจจุบันจะเห็นชัดเจนเฉพาะในบริเวณกลางเมืองและชเวดากอง (Shwedagon) ย่างกุ้งได้พยายามที่จะเก็บรักษาสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมที่ยังคงมีอยู่ ย่างกุ้งได้ถูกออกแบบใหม่เป็นตารางหมากรุก เมื่ออังกฤษได้ผนวกพม่าเข้าสู่อาณาจักรของตนเองในคริสต์ศตวรรษที่ 19
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 รัฐบาลพม่าได้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งใกล้กับตัวเมืองปยินมะนา และต่อมาตั้งชื่อเมืองใหม่นั้นว่าเนปยีดอ