แนวทางการทำเกษตรแนวดิ่งยังสามารถช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวของต้นไม้ ซึ่งจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ นอกจากนั้น การเกษตรแนวดิ่งยังช่วยย้ายแหล่งผลิตอาหารไปตั้งอยู่ในพื้นที่ระแวกเดียวกันกับที่อยู่ของผู้บริโภค ซึ่งเท่ากับไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิตอาหารแล้วยังช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการขนส่งได้อีกด้วย และถ้าคำนวณผลรวมของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) จากการเกษตรกรรม อันเกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องจักรในกระบวนการเก็บเกี่ยวและการขนส่งผลผลิตพืชผลและปศุสัตว์ รวมถึงปริมาณก๊าซมีเทน (Methane) จากการทำปศุสัตว์แล้ว กระบวนการเกษตรกรรมจะมีสัดส่วนของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) สูงถึงประมาณร้อยละ 14 ของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ทั้งหมดของโลกเลยทีเดียว
ดังนั้น จากแนวคิดของ Despommier ที่ว่าด้วยกระบวนการแปลงของเสียเป็นอาหาร (Waste in and Food out) โดยการเกษตรแนวดิ่งจะเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่สามารถเดินเครื่องได้ต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อผลิตอาหารป้อนให้แก่ประชากรจำนวนมากและเพื่อพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์สู่การค้นพบแนวทางการเกษตรในอนาคต พร้อมด้วยแรงบันดาลใจอันเกิดจากการวิจัยล้ำสมัย จากนักวิทยาศาสตร์และบริษัทห้างร้านด้านเกษตรกรรม โดยหวังว่า นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยยับยั้งภัยพิบัติที่มาลธัสทำนายไว้ไปได้อีกกว่า 200 ปี โดยในที่นี้ จะนำเสนอตัวอย่าง เทคโนโลยีล้ำยุค 3 เทคโนโลยีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรแนวดิ่ง ได้แก่ การเลี้ยงต้นไม้ในน้ำแบบครบวงจร (Aquaponic merry-grow-round) การใช้หุ่นยนต์ดูแลพืชอาหาร (Crop Circles tended by robots) และ การใช้ประโยชน์จากปฏิกูล (The whole thing runs on sewage) ดังนี้
1) การเลี้ยงต้นไม้ด้วยน้ำแบบครบวงจร (Aquaponic merry-grow-round) แม้การเพาะปลูกโดยใช้น้ำแทนดิน (Hydroponics) และการทำฟาร์มปลา จะสร้างผลผลิตได้ปริมาณสูง แต่ก็ต้องการการดูแลรักษาเป็นอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากระบบการเพาะปลูกโดยไม่ใช้ดินจำเป็นต้องเพิ่มเติมสารอาหารที่จำเป็นให้แก่พืชที่ปลูกอยู่บ่อยครั้ง และในขณะที่การทำฟาร์มปลานั้น ก็จำเป็นต้องรักษาคุณภาพของน้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่เราอาจสามารถนำทั้งสองแนวคิดมาจับคู่รวมกันเป็น “ระบบอควาโปนิกส์ (Aquaponics)” ซึ่งให้ของเสียจากการเลี้ยงปลากลายเป็นสารอาหารให้แก่การปลูกพืช ในขณะที่พืชก็จะช่วยทำความสะอาดและขจัดความสกปรกในน้ำของบ่อเลี้ยงปลาเช่นกัน
2) การใช้หุ่นยนต์ดูแลพืชอาหาร (Crop Circles tended by robots) แม้เกษตรกรพร้อมที่จะเปิดรับเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน มาใช้ในการปลูกพืชแนวดิ่ง เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้ผลผลิตได้ประมาณ 30 เท่าของวิธีการเพาะปลูกโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่พืชทุกชนิดที่จะได้ผลดีกับวิธีการดังกล่าว เช่น มันฝรั่ง และพืชตระกูลแคคตัส ซึ่งจำเป็นต้องยึดรากลงในวัสดุกึ่งของแข็ง เช่น ดิน หรือกาบมะพร้าว โดยบริษัท โอเมกา การ์เด็น (Omega Garden) ในประเทศแคนาดา ได้ออกแบบระบบเพื่อการเพาะปลูกพืชที่มีลักษณะคล้ายกับชิงช้าสวรรค์ โดยจะเพาะปลูกพืชในถาดหลุมที่บรรจุหินเวอร์มิคูไลท์ (Vermiculite)
3) การใช้ประโยชน์จากปฏิกูล (The whole thing runs on sewage) แนวคิดการเกษตรแนวดิ่งนั้นถูกออกแบบให้เป็นมากกว่าโรงงานผลิตอาหาร โดยถูกวางแผนให้เชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานของเมือง โดยที่ระบบสิ่งปฏิกูลโดยรอบของเมืองจะถูกส่งตรงไปสู่ฟาร์มเกษตรแนวดิ่ง โดยครึ่งหนึ่งจะถูกนำเข้าสู่เครื่องผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่ชื่อว่า SlurryCarb2 ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท EnerTech เครื่องจักรนี้จะเพิ่มอุณหภูมิและความดันให้แก่กากตะกอน (หมายเลข 1 ในแผนภาพที่ 3) จากนั้นทำให้แตกตัวเพื่อแยกคาร์บอนและน้ำ จากนั้นเครื่องจะแยกส่วนประกอบของน้ำ (หมายเลข 2 ในแผนภาพที่ 3) และของแข็ง เพื่อผลิตเป็นแท่งเชื้อเพลิงแข็ง (Slurry) ที่คล้ายกับถ่านหิน ซึ่งจะถูกนำมาใช้เผาไหม้เพื่อหมุนกังหันพลังงานไอน้ำ (หมายเลข 3 ในแผนภาพที่ 3) สำหรับผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และส่วนที่เหลือของสิ่งปฏิกูลจะถูกบำบัดด้วยสารเคมีที่ใช้กำจัดแบคทีเรีย และเปลี่ยนให้เป็นดินชั้นบนสำหรับการเพาะปลูก โดยผ่านกระบวนการความร้อนและอบแห้ง ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท N-Viro3 ยิ่งไปกว่านั้น น้ำที่ถูกสกัดแยกออกมาในกระบวนการที่ผ่านๆมาก่อนหน้านี้ จะถูกนำมากรองผ่านกระบวนการกรองตามธรรมชาติ โดยอาศัยนักบำบัดชีวภาพ เช่น หอยกาบลายเสือ (zebra mussel) กกช้าง (cattail) และ กกหนอง(sawgrass) (หมายเลข 4 ในแผนภาพที่ 3) ซึ่งจะทำการบำบัดจนกว่าน้ำเหล่านั้นจะเหมาะสมสำหรับนำไปใช้ในการเกษตรหรือไปผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์อีกครั้งก่อนนำไปบริโภค นอกจากนี้ ของเสียอื่นๆจากการเกษตรจะสามารถนำไปหมักเป็นปุ๋ย และก๊าซมีเทนซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงได้