บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวและความทนทานที่ความหนักสูงแบบสลับช่วงที่มีต่อสมรรถภาพของนักกีฬาเรือมังกร
วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้เป็นนักกีฬาเรือมังกรเยาวชนชาย จังหวัดเชียงใหม่ อายุระหว่าง 14-17 ปี จำนวน 20 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆละ 10 คน ได้แก่กลุ่มทดลองทำการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวและความทนทานที่ความหนักสูงแบบสลับช่วง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ร่วมกับโปรแกรมการฝึกพายเรือ ทำการวัดเปอร์เซ็นต์ไขมันใต้ผิวหนังทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวและความทนทาน อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสูด และสถิติเวลาการพายเรือระยะ 500 เมตร ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง 4 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 8 สัปดาห์ นำผลที่ได้มาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานโดยกำหนดความมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.5 เปรียบเทียบผลการทดลองภายในกลุ่ม โดยการวิเคราะห์หาความแปรปรวนชนิดวัดซ้ำ (One-way analysis of variance with repeated measure ) หากพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจะทำการทดสอบรายคู่โดยวิธีของ Bonferronic และเปรียบเทียบความแตกต่างของผลการทดลองระหว่างกลุ่ม โดยการวิเคราะห์ค่าที (t-test independent)
ผลการวิจัย หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 4 และหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 8 พบว่าความแข็งแรงสูงสุดของกล้ามเนื้อแขนกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ความทนทานของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวด้านหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และด้านหลัง เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวข้างซ้ายและขวา ของกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .001 ความสามารถในการใช้ออกซิเจนสูงสุด ของกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
สรุปผลการวิจัย การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวและความทนทานที่ความหนักสูงแบบสลับช่วงในนักกีฬาเรือมังกร ทำให้กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวมีความแข็งแรงและความทนทานเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่เปอร์ซ็นต์ไขมันใต้ผิวหนังลดลง และมีสถิติการพายเรือแบบพายเดี่ยวดีขึ้น