การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลอง (Experimental Study) ศึกษาองค์ประกอบทางเคมี สารประกอบฟีนอลิก และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในผลิตภัณฑ์กาแฟถั่วเหลือง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ กาแฟถั่วเหลืองสายพันธุ์ สจ.5, เชียงใหม่ 60 และเชียงใหม่ 84-2 โดยใช้อุณหภูมิในการคั่ว 230 องศาเซลเซียส ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน คือ คั่วอ่อนใช้เวลา 12 นาที คั่วกลางใช้เวลา 15 นาที และคั่วเข้มใช้เวลา 17 นาที
ผลการทดลอง พบว่า เมื่อเวลาในการคั่วเพิ่มขึ้น ทำให้เปอร์เซ็นต์ความชื้น, เถ้า และโปรตีนลดลง แต่เปอร์เซ็นต์ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น โดยกาแฟถั่วเหลืองสายพันธุ์ เชียงใหม่ 60 จะมีเปอร์เซ็นต์คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันสูง สำหรับการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH และ FRAP assay พบว่า ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในผลิตภัณฑ์กาแฟถั่วเพิ่มขึ้นตามเวลาในการคั่ว และการศึกษาปริมาณสารประกอบฟีนอลิก ด้วยวิธี Folin - Ciocalteu colorimetric พบว่า ปริมาณสารประกอบฟีนอลิกเพิ่มขึ้นตามเวลาในการคั่วด้วย
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเวลาในการคั่วเพิ่มขึ้นทำให้สารอาหารบางตัวในกาแฟถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น โดยสูตรกาแฟสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการสารอาหารประเภท คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันสูง คือ กาแฟถั่วเหลืองสายพันธุ์ เชียงใหม่ 60 คั่วนาน 17 นาที
มีพลังงานสูงที่สุด คิดเป็น 449 กิโลแคลอรี่ต่อ 100 กรัม และถ้าบริโภคกาแฟ 2 ช้อนชา ต่อ กาแฟ
1 แก้ว จะให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม และสูตรกาแฟสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการสารต้านอนุมูลอิสระ คือ กาแฟถั่วเหลืองสายพันธุ์ เชียงใหม่ 84-2 คั่วนาน 17 นาที