แนวความคิดทางการตลาดและความหมายของการตลาด
การตลาด หมายถึง การเคลื่อนย้ายสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคคนสุดท้ายโดยผ่านคนกลางหรือไม่ก็ได้เพื่อตอบสนองความพอใจและความต้องการของลูกค้า โดยอาศัยกิจกรรมต่าง ๆ จากคำจำกัดความข้างต้น สามารถแยกพิจารณาถึงประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1. กิจกรรม เป็นส่วนที่ทำให้สินค้าและบริการไปถึงมือผู้บริโภคคนสุดท้ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วยส่วน
· ประสมทางการตลาด (การวางแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การกำหนดราคา ช่องทางการตลาด และการส่งเสริมการตลาด)
· การวิจัยตลาดและอื่นๆ
2. การตอบสนองความต้องการหรือความพอใจของผู้บริโภค โดยนักการตลาดจะต้องพยายามตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา
3. ผู้บริโภคคนสุดท้าย หมายถึง ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าไปเพื่อบริโภคเองหรือใช้ในครัวเรือน โดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะนำสินค้าไปขายหรือนำไปผลิตต่อ การดำเนินธุรกิจต่างๆ จะต้องมุ่งเน้นไปที่ตัวผู้บริโภคคนสุดท้ายเป็นหลัก
4. การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ กล่าวคือ การตลาดจะต้องมีการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคคนสุดท้าย จึงจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขาย (ผู้บริโภคหรือลูกค้า) กับผู้ขาย (ผู้ผลิตหรือคนกลาง)กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือลักษณะของสินค้า เช่น การผลิตโต๊ะทำงานเป็นกิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างของไม้ แปรรูปให้อยู่ในรูปแบบของโต๊ะทำงาน มีการใช้ตะปู สี และกระดาษทรายเพื่อให้มีรูปร่างสวยงามตามต้องการ
ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องของการผลิต แต่หากเมื่อใดที่ผลิตโต๊ะทำงานแล้วและต้องการนำออกสู่ตลาด ก็ถือว่าเป็นเรื่องของการตลาด
หน้าที่ของการตลาด (Function of Market)
หน้าที่ของการตลาด หมายถึง หน้าที่ในการทำให้สินค้าและบริการมีการเคลื่อนย้ายจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคคนสุดท้าย ซึ่งมีหน้าที่ที่สำคัญดังนี้
1. หน้าที่ในการวิเคราะห์ตลาด เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประเมินลักษณะ ความต้องการ พฤติกรรม และขั้นตอนการซื้อของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้นักการตลาดรู้ถึงความต้องการและความจำเป็นของผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าของธุรกิจ
2. หน้าที่ในการแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดในการซื้อ การขาย การเช่าและการให้เช่า
3. หน้าที่ในการอำนวยความสะดวก เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดมาตรฐานสินค้า ข้อมูล ข่าวสาร การเสี่ยงภัย และการเงิน
4. หน้าที่เกี่ยวกับส่วนประสมทางการตลาด หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “Marketing Mixs”ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักทางการตลาดโดยจะประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญดังนี้คือ
- ผลิตภัณฑ์ (Product) ได้แก่ สินค้า (Goods) และบริการ (Service)
- การกำหนดราคา (Price)
- การจัดจำหน่าย (Place)
- การส่งเสริมการตลาด (Promotion)
การตลาดจะทำให้ธุรกิจมีการขยายตัว เพราะทำให้ธุรกิจต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อรักษาส่วนครองตลาด และเพื่อให้เข้าถึงความต้องการของผู้ซื้อ นอกจากนี้ยังทำให้มีการกำหนดราคาให้สอดคล้องกับลักษณะของผลิตภัณฑ์ ทำให้มีการกำหนดคนกลางเพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ไปยังตลาด และทำให้เกิดการส่งเสริมการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การใช้พนักงานขาย และการส่งเสริมการขาย
5. หน้าที่ในการวิจัยการตลาด เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดและที่เกี่ยวข้องกับการตลาด เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
6. หน้าที่ในการสื่อสาร เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารภายในและภายนอกองค์การ
7. หน้าที่ในการรับผิดชอบต่อสังคม เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองความต้องการของสังคม เช่น การให้ความปลอดภัยในการอุปโภคบริโภคสินค้า จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น
วิวัฒนาการของการตลาด จะแบ่งออกเป็น3 ยุคสำคัญคือ
1. ยุคการผลิต เป็นยุคที่ผู้ผลิตเริ่มนำเอาเครื่องจักรและเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการผลิตมากขึ้น ทำให้ในยุคนี้มีลักษณะที่เรียกว่า “ตลาดของผู้ผลิตหรือผู้ขาย”กล่าวคือ เป็นตลาดที่ผู้ผลิตหรือผู้ขายสามารถขายสินค้าได้หมดหรือเป็นลักษณะของการที่มีปริมาณความต้องการมากกว่าปริมาณการผลิต
2. ยุคการขาย เป็นยุคที่มีการปฏิวัติและพัฒนาทางอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก จึงทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น และทำให้ปริมาณของสินค้าสูงกว่าปริมาณความต้องการ การตลาดในยุคนี้จึงเป็นของผู้ซื้อ หรือเรียกว่า “ตลาดของผู้ซื้อ” กล่าวคือ เป็นตลาดที่มีการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตหรือผู้ขายเพื่อที่จะขายสินค้าให้ผู้บริโภค ทั้งนี้มักจะมีการขายสินค้าโดยใช้พนักงานขาย การโฆษณาและการส่งเสริมการขายเพื่อมุ่งขายสินค้าให้มากขึ้น
3. ยุคการตลาด เป็นลักษณะของตลาดในปัจจุบัน โดยเป็นยุคที่เน้นการผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค และให้ความสนใจกับผลกำไรของกิจการแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากในยุคนี้ผู้ผลิตแต่ละรายจะมีการแข่งขันกันอย่างมาก จึงทำให้ตลาดมีลักษณะที่เรียกว่า “ตลาดของผู้ซื้อหรือผู้บริโภค” ซึ่งนักการตลาดไม่ได้มุ่งที่การขายโดยใช้พนักงานขาย การโฆษณา และการส่งเสริมการขายเท่านั้น แต่จะมุ่งเน้นในด้านอื่นเพิ่มเติมอีก เช่น การประชาสัมพันธ์ การวิจัยตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การกำหนดราคา เป็นต้น
การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning)
การว่างแผนกลยุทธ์เป็นหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางด้านบริหารเพื่อการพัฒนาการและดำรงไว้ซึ่งภาวะเฉพาะกาลที่ได้เปรียบทางกลยุทธ์ระหว่างกิจการกับโอกาสทางการตลาดของกิจการนั้น เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้า
การวางแผนกลยุทธ์ แบ่งออกเป็นองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนด้วยกัน คือ
1. ภาระหน้าที่ของกิจการ (Company Mission)
ภาระหน้าที่ของกิจการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดจะมีลักษณะสำคัญ 4 ประการ ได้แก่
เน้นด้านการตลาด ปฏิบัติตามได้ เร้าใจ และเจาะจง
2. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของกิจการ (Objectives and Goals)
วัตถุประสงค์และเป้าหมายของกิจการใดๆจะถูกกำหนดขึ้นล่วงหน้าก่อนการดำเนินงานและต้องกำหนดให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่ (Mission) ของกิจการ