เทศกาลสาดสี (Holi festival) ที่ฉลองกันทั่วประเทศอินเดีย เป็นเทศกาลของชาวฮินดู จัดเป็นประจำทุกปี ปีละสองวันในช่วงเดือนมีนาคม เทศกาลนี้เรียกอีกอย่างว่า “เทศกาลแห่งสีสัน” โดยทุกคนจะสาดผงสีใส่กันอย่างสนุกสนาน หรืออาจจะสาดน้ำด้วยเช่นกัน
เทศกาลเริ่มในช่วงต้นของฤดูใบไม้ผลิ ในธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงจากหนาว ไปเป็นอากาศร้อน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ มีผลต่อมนุษย์ต่อสุขภาพและต่อจิตใจของมนุษย์ เพราะเมื่ออากาศ เริ่มเปลี่ยนจากหนาวมาเป็นร้อน ผู้คนก็จะไม่สบายเป็นหวัดกันเพราะอากาศเป็นเหตุ โดยเบื้องหลังเทศกาลนี้มิใช่เพื่อโปรยสีกัน เพื่อสนุกสนานอย่างเดียวเท่านั้น แต่คนโบราณได้แฝงเอาธรรมชาติบำบัดโรค เอามาซ่อนไว้ในความสนุกสนานไว้ด้วย โดยใช้ผงสีจากพืชและพืชสมุนไพรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเหลือง สีคราม สีเขียว มาโปรยใส่กันทำนองกายบำบัดเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายด้วย สนุกและสบายตัวด้วย คิดได้ไงนี่!
นอกจากนี้ การเปลี่ยนฤดูหนาว เข้าสู่หน้าร้อน ธรรมชาติเองก็เปลี่ยนแปลงสีสันอย่างมาก ดอกไม้สีสันสด บานสะพรั่งเต็มที่ คนอินเดียแต่โบราณ ก็ปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม สีสันที่ใช้จึงเป็นสีที่เกิดตามธรรมชาติแท้ๆ ชาวอินเดียจะเปลี่ยนการแต่งตัวจากเสื้อผ้าหน้าหนาวเป็นหน้าร้อน ส่าหรีสีสันสดใสฉูดฉาด อาหารการกินก็เปลี่ยน…. ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่เขาฉลองกัน จึงเป็นเทศกาลแห่งสีสันที่น่าทึ่งของมนุษย์ ที่แสดงถึงความใกล้ชิดธรรมชาติ คนอินเดียเหล่านั้นมองเห็นธรรมชาติ จึงปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับธรรมชาติ และใกล้ชิดกับธรรมชาติให้มากที่สุด
ส่วนที่มาของตำนานการเกิดเทศกาล Holi Festival นั้นมีอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องเจ้าแห่งอสูรนามว่า Hiranyakashyap ได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นอมตะ ซึ่งต่อมาด้วยความที่ไม่มีใครฆ่าได้ ทำให้เจ้าอสูรต้องการให้ทุกคนบูชาตนเองเท่านั้น แต่ลูกชายที่ชื่อ Prahlad กลับบูชาแต่พระวิษณุ Lord Vishanu ทำให้อสูรโกรธมาก พยายามหาวิธีทำให้ลูกตัวเองตาย หนึ่งในวิธีคือการหลอกให้ถูกเผาทั้งเป็น โดยให้ Prahlad เข้าพิธีบูชาไฟพร้อมน้องสาวของตนที่ชื่อ Holika น้องสาวคนนี้ได้รับพรพิเศษว่าไฟไม่สามารถทำร้ายเธอได้ แต่ปรากฏว่าเมื่ออยู่ในกองไฟ เธอกลับถูกเผาไหม้ โดย Prahlad กลับไม่เป็นอะไรเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะพรที่เธอได้นั้นมีเงื่อนไขว่าเธอเข้ากองไฟคนเดียว สำหรับ Prahlad นั้นด้วยการยึดมั่นบูชาถึงพระวิษณุเสมอจึงไม่เป็นอะไรจากไฟ การบูชา Holi มาจากคำว่า Holika สื่อหมายความว่าไฟเผา จึงเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อจะบอกว่าผู้ใดที่ยึดมั่นบูชาพระเจ้าจะไม่เป็นอันตราย และธรรมะย่อมชนะอธรรมเสมอ