อาหารพื้นบ้าน.เมืองสงขลา
ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคน 3 เชื้อชาติคือ ไทย จีน และอิสลาม ซึ่งอาศัยอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้ร่วมกันมานานนับร้อยกว่าปี ชาวบ้านทั้ง 3 กลุ่มต่างมีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จากการติดต่อสัมพันธ์กันในด้านการค้าขาย และการแต่งงาน ส่งผลให้มีการรับวัฒนธรรมการกินอาหารของจีนและอิสลามเข้ามาผสมผสานกับอาหารไทยพื้นบ้าน มีการดัดแปลง คิดค้นหาเทคนิคการปรุงอาหารให้เหมาะกับรสชาติของผู้คนในตำบลบ่อยาง จนเกิดตำรับอาหารใหม่ๆขึ้นเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวัน หรือบริโภคในงานประเพณีต่างๆ เช่น หมูค้อง หมูสตู ต้มใส่ไส้ เต้าคั่ว เป็นการผสมผสานอาหารระหว่างครัวไทยพื้นบ้านกับครัวจีน กุ้งผง ไก่ย่างขมิ้น ขนมบูตู ขนมบอก เป็นการผสมผสานอาหารระหว่างครัวไทยพื้นบ้านกับครัวอิสลาม เป็นต้น การผสมผสานวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินของผู้คนในตำบลบ่อยางจึงเปรียบเสมือนการเดินทางมาพบกันครึ่งทางระหว่างครัวไทยปักษ์ใต้กับครัวจีน และครัวอิสลาม ส่งผลให้อาหารพื้นบ้านของชาวตำบลบ่อยางมีรสอ่อน ไม่เผ็ดจัดแบบอาหารปักษ์ใต้ทั่วไป และมีรสหวานนำ โดยมีถนนนางงามเป็นศูนย์กลางจำหน่ายอาหารของชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันอาหารพื้นบ้านโบราณของชาวบ่อยางที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นหารับประทานได้ยากเพราะขาดผู้สืบทอด ส่งผลให้ลูกหลานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักอาหารพื้นบ้านดังกล่าว ผู้สืบทอดที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุซึ่งมีอยู่ไม่มาก และบางส่วนได้อพยพย้ายถิ่นฐานตามลูกหลานไปอยู่ที่อื่น ดังนั้นภาคีคนรักเมืองสงขลาจึงเห็นความสำคัญที่จะทำการฟื้นฟูวัฒนธรรมการบริโภคอาหารพื้นบ้านโบราณของชาวตำบลบ่อยางซึ่งการมีลักษณะเด่นควรค่าแก่อนุรักษ์ไว้เป็นหลักฐานให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักก่อนที่อาหารพื้นบ้านดังกล่าวจะสูญไปจากชุมชน