• ลวดลายผ้ายกเมืองนครที่ทอกันมาแต่โบราณ มักเป็นลวดลายที่พบเห็นได้อยู่รอบตัวของช่างทอผ้า ลวดลายเหล่านี้ถูกถ่ายทอดต่อๆกันมา ด้วยวิธีการจดจำหรือทอลอกเลียนแบบอย่างไว้ นับเป็นภูมิปัญญาและฝีมือของช่างทอผ้าอย่างแท้จริง ลวดลายผ้ายกเมืองนครแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1) กลุ่มลายพันธุ์ไม้ เป็นลวดลายจากดอกไม้และต้นไม้ ได้แก่ ลายดอกพิกุล ลายดอกพิกุลแก้ว ลายดอกพิกุลเถื่อน ลายดอกพิกุลล้อม ลายดอกพิกุลก้านแยก ลายดอกพิกุลสลับลายลูกแก้ว ลายดอกมะลิร่วง ลายดอกมะลิตูมก้านแย่ง ลายดอกเขมร ลายดอกไม้ ลายใบไม้ ลายตาย่านัด ลายหัวพลู เม็ดพริกไทย ลายเครือเถา
2) กลุ่มลายสัตว์ ได้แก่ ลายม้า ลายหางกระรอก ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายแมงมุมก้านแย่ง
3) กลุ่มลายเรขาคณิต ได้แก่ ลายเกล็ดพิมเสนทรงสี่เหลี่ยม ลายเกล็ดพิมเสนรูปเพชรเจียระไน ลายก้านแย่ง ลายราชวัด ลายเก้ากี่ ลายดาสมุก ลายตาราง ลายลูกโซ่ ลายลูกแก้ว ลายลูกแก้วฝูง
4) กลุ่มลายเบ็ดเตล็ด ได้แก่ ลายไทยประยุกต์ ลายไทยประยุกต์ผสม ลายพิมทอง และลายอื่นๆอีกที่ไม่ทราบชื่อลาย
ลายเกล็ดพิมเสน
เป็นลายผ้ายกเมืองนครโบราณที่มีความสวยงามมาก ทอเป็นลายอยู่บริเวณท้องผ้า ลักษณะลวดลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก และผลึกรูปเพชรเจียระไน ผ้ายกเมืองนครลายเกล็ดพิมเสนที่พบมีทั้ง ผ้ายกทองและผ้ายกไหม