ปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น:
ในกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวช้าเพียงต่ำกว่าร้อยละ 4 – 5 (ด้วยปัจจัยการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช้าลง) จะส่งผลให้หนี้สาธารณะของไทยพุ่งสูงขึ้นมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดมาจากระบบภาษีของไทยที่มีความอ่อนไหวต่อสภาวะเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีปัญหา
อัตราดอกเบี้ยแท้จริงอาจปรับตัวขึ้นในระยะ 2 ปีข้างหน้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งอาจจะส่งผลให้ภาระหนี้และยอดหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยเสี่ยงระยะยาว
ยังมีความไม่แน่ชัดว่า ไทยจะหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้หรือไม่ เนื่องจาก ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรมนุษย์และแรงงาน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของไทย ไม่เอื้อต่อการหลุดพ้นออกจากกับดักดังกล่าว
รัฐบาลยังไม่มีแผนการปรับระบบภาษีอย่างที่ควรเป็น รัฐยังไม่สามารถเพิ่มรายได้ภาษีจากภาษีบางประเภทได้ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษี VAT เป็นต้น
ผู้วิจัยเห็นว่าการบริหารความเสี่ยงในระยะสั้นควรเป็นการปรับลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ตัวอย่างเช่นหากมีการปรับลดการขาดทุนที่เกิดจากโครงการจำนำข้าวลงให้เหลือไม่เกินปีละ 70,000 ล้านบาทจะช่วยเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเท่ากับประมาณร้อยละ 5 ของรายได้ประชาชาติได้ในระยะเวลา 5 ปี สามารถช่วยสร้างความเชื่อมมั่นให้กับรัฐบาลไทยอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
บทสรุป
แม้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งจากการฟื้นตัวจากน้ำท่วมใหญ่และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น แต่การใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ทำให้ควรมีการติดตามหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิด ผู้วิจัยเห็นว่า รัฐบาลควรมีการสร้าง ‘พื้นที่ทางการคลัง’ เพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้าเนื่องจากยังมีความเสี่ยงของแนวโน้มหนี้สาธารณะที่สูงเกินไป แม้รัฐบาลควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต แต่ควรพิจารณาปรับลดการใช้จ่ายในโครงการพิเศษที่ใช้งบประมาณสูงเกินจำเป็น เช่น โครงการรับจำนำข้าว ควบคุมการขยายตัวของรายจ่ายประจำ และปรับเพิ่มรายได้จากภาษีบางประเภท ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม