ลากิจ
ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑
มาตรา ๓๔ กำหนดไว้ว่า
“ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน”
การลากิจ หมายถึงการลาไปเพื่อทำกิจธุระอันจำเป็นที่ลูกจ้างไม่สามารถทำในวันหยุดได้ เช่น ไปทำบัตรประชาชน ติดต่อหน่วยงานราชการ หรือมีเหตุจำเป็นต้องเดินทางที่ไม่สามารถเลื่อนหรือหลีกเลี่ยงได้ เป็นต้น
การลากิจ กฎหมายไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขไว้ กฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
ดังนั้นการลากิจ จึงต้องพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่นายจ้างกำหนดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือบางแห่งอาจมีระเบียบการลากำหนดไว้โดยเฉพาะ ก็ให้บังคับและปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวได้
ลากิจ กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ เรื่องการจ่ายค่าจ้าง ดังนั้นลากิจ ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ลา (ใช้บังคับได้สำหรับพนักงานรายวัน) ส่วนพนักงานรายเดือน มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดอยู่แล้วทุกกรณี ดังนั้นนายจ้างจะไปหักค่าจ้างในวันที่ลากิจไม่ได้
บางแห่งอาจมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กำหนดไว้เกี่ยวกับเรื่องการลา ก็สามารถบังคับใช้และปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น ๆ ได้ เช่น บางแห่งอาจตกลงไว้ว่า ปีหนึ่งลากิจได้ไม่เกิน ๖ วันทำงานโดยได้รับค่าจ้าง นั่นหมายความว่า ลากิจได้รับค่าจ้าง ๖ วันทำงาน
ปัญหามีอยู่ว่า หากพนักงานลาเกิน ๖ วันล่ะ มีปัญหาว่าลาได้หรือไม่ หรือว่าลาได้แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง
กรณีอย่างนี้ ต้องดูดี ๆ ครับ เพราะการตีความอาจแตกต่างกันได้ ดังนั้นหากมีการกำหนดไว้ในลักษณะเช่นนี้ ควรดูที่ประเพณีปฏิบัติของแต่ละบริษัทครับ ว่าที่ผ่านมาปฏิบัติอย่างไร มีเจตนาในการกำหนดข้อบังคับดังกล่าวไว้อย่างไร เพราะบางแห่งอาจหมายถึง ลากิจได้ปีละไม่เกิน ๖ วันทำงาน และได้รับค่าจ้างในวันที่ลา ลาเกินไม่ได้
แต่บางแห่งอาจหมายถึง ลากิจโดยได้รับค่าจ้าง ๖ วันทำงาน ส่วนที่ลาเกิน ๖ วัน ลาได้แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง เป็นต้น
เคยมีคนตั้งถามไว้หลายครั้งว่า ไปพบหมอตามที่หมอนัด เป็นลาป่วยหรือลากิจ
กรณีนี้ต้องพิจาณาถึงเจตนาของกฎหมาย คือ ลาป่วย หมายถึง ลาอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยไข้จนไม่สามารถมาทำงานตามปกติได้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีใครทราบล่วงหน้าว่าตนเองจะเจ็บป่วยเมื่อใด ส่วนลากิจเป็นเรื่องที่พนักงานทราบล่วงหน้าถึงกิจธุระอันจำเป็นที่ต้องการลานั้น ๆ
หมดนัด หากพิจาณาตามหลักเจตนาของกฎหมาย ถือว่าพนักงานทราบล่วงหน้าอยู่แล้ว และการไปพบแพทย์ตามนัด อาจไม่เกิดจากอาการเจ็บป่วยเสมอไป อาการป่วยอาจหายดีหรือ ดีขึ้น สามารถมาทำงานได้ตามปกติแล้ว แต่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อดูอาการหรือตรวจเพิ่มเติม กรณีอย่างนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการลาเนื่องจากอาการเจ็บป่วย ไม่ใช่การลาป่วย
แต่กรณีหากอาการเจ็บป่วยยังไม่หาย ต้องหยุดพักรักษาตัว และต้องไปพบแพทย์ตามกำหนด
อย่างนี้ยังถือว่ามีอาการเจ็บป่วยอยู่ การลาจึงเป็นการลาป่วยได้
สรุปง่าย ๆ คือ มีอาการป่วย จนไม่สามารถมาทำงานตามปกติได้ และต้องหยุดเนื่อจากอาการเจ็บป่วยนั้น ๆ เป็นลาป่วย
หากหมอนัด แต่ช่วงวันเวลาที่หมอนัดนั้น พนักงานมีอาการป่วยดีขึ้น และมาทำงานตามปกติได้แล้ว แต่ลาไปเพื่อพบหมอตามนัด ถือเป็นการลากิจ