ผู้ที่ริเริ่ม เอาเมล็ดข้าวโพดมาทำเป็นข้าวโพดคั่วเป็นรายแรกก็คือ ชนพื้นเมืองของอเมริกา(อินเดียนแดงนั่นเอง)
โดยพวกเขาได้ทำกันมาเป็นเวลานานหลายพันปีแล้วซึ่งที่เราสามารถทราบได้ก็เพราะเมื่อปี ค.ศ.1948 มีการค้นพบฝักของข้าวโพดสายพันธุ์ที่ใช้ทำข้าวโพดคั่ว ในถ้ำค้างคาวหลายแห่งในมลรัฐนิวเม็กซิโก โดยฝักข้าวโพดที่พบนั้น มีอายุย้อนไปประมาณ 5,600 ปีทีเดียว
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ผู้ค้นพบทวีปอเมริกาจึงได้นำข้าวโพดคั่วไปเผยแพร่ในทวีปยุโรป จนข้าวโพดคั่วนี้กลายเป็นของว่างที่ได้รับความนิยมทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนเรื่องที่ว่าเมล็ดข้าวโพดกลายมาเป็นข้าวโพดคั่วได้อย่างไรนั้นเหตุผลก็คือ ในเมล็ดที่ใช้สำหรับทำข้าวโพดคั่วนั้นจะมีความชื้นระดับหนึ่งอยู่ภายในส่วนที่เป็นแป้งนุ่มที่เป็นส่วนสะสมอาหารของเมล็ด(endosperm) ซึ่งถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกแข็งภายนอก และเมื่อได้รับความร้อนในระดับจุดเดือดแล้ว เจ้าความชื้นหรือน้ำที่อยู่ภายในก็จะขยายตัวจนเกิดแรงดันจากภายในทำให้ส่วนที่เป็นเปลือกแข็งระเบิดเสียงดังอยู่ภายในภาชนะ จากนั้น ความชื้นภายในเมล็ดก็จะออกมาและระเหยไปอย่างรวดเร็ว ส่วนแรงระเบิดก็จะทำให้ไส้ในของเมล็ดข้าวโพดกลับออกมาอยู่ด้านนอกแทนและการขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ทำให้ส่วนสะสมอาหารของเมล็ด (endosperm) แปรสภาพเป็นเหมือนกับโฟมนิ่มที่มีอากาศอยู่ภายใน จนเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของป็อปคอร์นนั่นเอง
สุดท้าย ในการทำป็อปคอร์นเราจะเห็นว่ามีบางเมล็ดที่ไม่ยอมแตกตัวไปเป็นป็อปคอร์น ซึ่งภาษาอังกฤษจะเรียกเมล็ดพวกนี้ว่า"old maids" โดยมีการอธิบายถึงสาเหตุที่เมล็ดไม่แตกตัวเอาไว้ 2 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรกคือเกิดจากความชื้นในเมล็ดมีไม่เพียงพอ และอีกประเด็นคือ เปลือกของเมล็ดข้าวโพดอาจจะมีรอยรั่วอยู่