รูปแบบบ้านมั่นคงในที่อยู่อาศัย “โครงการบ้านมั่นคง”
1. การปรับปรุงชุมชนให้มั่นคงในที่เดิม ( Slum Upgrading) เป็นการปรับปรุงชุมชนเดิมให้มีสภาพดีขึ้น เพื่อคงรูปแบบชุมชนเดิมต่อไป โดยปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ทางเดินเท้า และสภาพแวดล้อมในชุมชน เป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2. การปรับผังแปลงที่ดินใหม่โดยพยายามคงโครงสร้างเดิม (Reblocking )เป็นการปรับปรุงรูปแบบชุมชนเดิมให้มีผังและโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานดีขึ้น
3. การแบ่งปันที่ดิน (Land Sharing) เป็นรูปแบบไทยๆ คือ เมื่อเจ้าของที่ดินต้องการนำที่ดินไปใช้ก็เกิดการประสานประโยชน์ระหว่างชุมชน และเจ้าของที่ดิน โดยเจ้าของที่ให้เช่าหรือขายที่ดินบางส่วนให้ชุมชนในราคาถูก แลกกับประโยชน์จากที่ดินที่เหลือ ทำให้ชุมชนมีความมั่นคงในระยะยาว หรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เกิดการปรับผังมีการก่อสร้างและพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกันของชุมชนใหม่
4. การก่อสร้างรูปแบบใหม่ในที่ดิน (Reconstructing) เป็นการรื้อย้ายภายในบริเวณเดิมจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งแล้วให้ทำสัญญาเช่าระยะยาว จะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ซึ่งการรื้อย้ายและสร้างชุมชนใหม่ที่อยู่ในบริเวณเดิม ให้ชุมชนยังคงสามารถอยู่ใกล้บริเวณชุมชนเดิมและแหล่งงาน ไม่ต้องปรับตัวมากโดยชุมชนต้องก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ทั้งหมด
5. การรื้อย้ายชุมชนออกไปอยู่ในที่ใหม่ (Relocation) คือ ทำให้ประชาชนในชุมชนต้องอยู่ไกลจากชุมชนเดิม ไกลจากแหล่งงาน สถานศึกษา เสียค่าเดินทางเพิ่ม ต้องสร้างชีวิตและสังคมใหม่ ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่าย ค่อนข้างสูง ในการซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน แต่มีข้อดี คือ ชุมชนได้ความ มั่นคง มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและการอยู่อาศัย สามารถพัฒนาสภาพแวดล้อมชุมชนใหม่ ได้เต็มที่
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับ กรมธนารักษ์ การเคหะแห่งชาติและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ประสบปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยหรือบุกรุกที่สาธารณะ ขณะนี้การเคหะแห่งชาติได้จัดทำโครงการกลุ่มเป้าหมายเฉพาะของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนขึ้น โดยให้หน่วยงานจัดหาที่ดินและการเคหะแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างบ้านพักอาศัย รัฐบาลช่วยเหลือหลังละประมาณ 80,000 บาท และให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าท้องตลาดให้กับการเคหะแห่งชาติ ซึ่งได้จัดทำไปแล้วดังนี้ โครงการบ้านเอื้ออาทรสำหรับข้าราชการและลูกจ้างกองทัพอากาศ โครงการบ้านเอื้ออาทรสำหรับข้าราชการและลูกจ้าง กองทัพเรือ โครงการบ้านเอื้ออาทรสำหรับข้าราชการและลูกจ้างกองทัพบก โครงการบ้านเอื้ออาทร ชาวไทยมุสลิม และโครงการบ้านเอื้ออาทรผู้ใช้แรงงานเป็นต้น
กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรการปกครองท้องถิ่นที่ต้องรับผิดชอบดูแลชุมชนในเขตกรุงเทพมหานครได้มีนโยบายในการพัฒนาชุมชนทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตในชุมชนทั้ง 5 ประเภท โดยทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นต้น เพื่อให้ความร่วมมือในการพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การปรับปรุงแก้ไขระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ตลอดจน ประสานงานกับภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและจัดหาที่อยู่แห่งใหม่ที่เหมาะสมให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโอกาส ต่อไป
จะเห็นได้ว่า กรุงเทพมหานครมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร ให้มีความเป็นระเบียบ มีความสวยงาม เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของเมืองในอนาคต รวมทั้งสอดคล้องกับแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยในช่วงแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาความมั่นคงในสิทธิการอยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ยังสนับสนุนนโยบายในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะแก้ปัญหาและเปิดโอกาสให้มีผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของตนเอง ในลักษณะจัดสรรบ้านและที่ดินในเขตพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งขยายแหล่งงานทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ขยายโครงข่ายสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การคมนาคมขนส่ง ถนนหนทาง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ออกสู่พื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อรองรับผู้ใช้แรงงานหรือผู้มีรายได้น้อยที่จะอพยพเข้ามาอยู่อาศัยและประกอบอาชีพในกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคตพร้อมให้ภาครัฐขยายความเจริญออกสู่ชนบทเพื่อสร้างความมั่นคงและแหล่งงาน ในชนบท ป้องกันมิให้เกิดแรงงานทะลักเข้ามาสู่เมืองหลวง