มะกรูด มะกรูดมีการใช้ประโยชน์อย่างมาก เป็นได้ทั้งเครื่องเทศและยาสมุนไพร สามารถนำไปประกอบอาหารดับกลิ่นคาวและเป็นยารักษาโรค เช่น ช่วยแก้อาการท้องอืด แก้ปวดท้อง บำรุงโลหิตสตรี ขับเสมหะ ฯลฯ นอกจากการบริโภคเป็นอาหารและเป็นยารักษาโรคแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางประเภทต่าง ๆได้อีกด้วย เช่น แชมพู ครีมนวด ครีมหมักผมเป็นต้น ส่วนต่าง ๆของมะกรูด สามารถเก็บรักษาไว้ในรูปของแห้ง คือ ใบมะกรูดแห้ง และผิวมะกรูดแห้ง หรือน้ำมันหอมระเหยสารสกัดวิธีต่างๆปัจจุบันความต้องการมะกรูดของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มที่สูงขึ้น เนื่องด้วยสรรพคุณของมะกรูดที่มีความหลากหลาย แต่เกษตรกรมักจะปลูกมะกรูดกันในลักษณะเป็นพืชผักสวนครัว หรือพืชรองเท่านั้น
ชื่อภาษาไทย : มะกรูด
ชื่อสามัญ : Porcupine Orange, Kiffir Lime, Leech Lime, Mauritius papeda
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus hystrix DC.
ชื่อวงศ์ : RUTACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. มะกรูด เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสูง 2 – 12 เมตร ลำต้นและกิ่ง มีหนามแหลม
2. ใบมะกรูด มีลักษณะเป็นรูปไข่กว้างถึงไข่แกมรี หรือขอบขนาน ขนาดของใบกว้าง 2-6 เซนติเมตรยาว3–15เซนติเมตรปลายใบมน โคนใบสอบหรือมน ขอบใบ จักมน ก้านใบมีปีกเป็นแผ่นคล้ายใบคล้ายรูปลิ่มหรือไข่หัวกลับ ใบเป็น2ตอน ใบค่อนข้างหนามีสีเขียวแก่แผ่นใบมีต่อมน้ำมันใส มีกลิ่นหอม
3. ดอกมีสีขาว อยู่บริเวณตรงซอกใบ มีกลิ่นหอม มีลักษณะเป็นทั้งดอกเดี่ยวและดอกช่อ มี 2 -12ดอก
- กลีบเลี้ยง มี 4-5 กลีบ เป็นรูปไข่กว้าง ปลายแหลม
- กลีบดอก มี 4-5 กลีบ กลีบหนา รูปไข่แกมรี ปลายมนแหลม ด้านนอกมีต่อมน้ำมันกลีบร่วงง่าย
- เกสรเพศผู้ มีจำนวนมาก ก้านเกสรสีขาว อับเรณูสีเหลืองอ่อน
- เกสรเพศเมีย คล้ายรูปกระบอง สีเหลืองแกมเขียว ยอดเกสรกลม สีเหลืองแกมเขียว
- รังไข่ ค่อนข้างกลม ส่วนบนกว้าง มีหลายช่อง
4. ผล เป็นผลเดี่ยวค่อนข้างกลม บางพันธุ์มีผิวขรุขระ มีจุกที่หัวผล เปลือกหนา สีเขียวเมื่อสุกมีสีเหลืองมีเมล็ดหลายเมล็ด โครงสร้างด้านในคล้ายพืชตระกูลส้ม ขนาดของผลประมาณ 3 – 7 เซนติเมตร
แหล่งที่พบ
ไม่ทราบแหล่งกำเนิด แต่พบมากตามธรรมชาติในมาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา พม่า และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การใช้ประโยชน์จากมะกรูด
1. ใช้ส่วนต่าง ๆ ของมะกรูด เป็นยาหรือส่วนผสมของยาต่าง ๆ1. 1 ใบมะกรูด มีรสปร่า กลิ่นหอม แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ช้ำใน ดับกลิ่นคาว
1.2. ผลลูกมะกรูด มีรสเปรี้ยว กัดเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว กัดเถาดานในท้อง แก้ระดูเสีย ฟอกโลหิต ขับระดู ขับลมในลำไส้
1.3 ผิวลูกมะกรูด มีรสปร่า กลิ่นหอมร้อน ขับลมในลำไส้ ขับระดู ขับผายลม
1.4 น้ำในลูกมะกรูด มีรสเปรี้ยว แก้ไอเสมหะ ฟอกโลหิต ขับระดู ขับลมในลำไส้
1.5 ราก มีรสจืดเย็น แก้ไข้ ถอนพิษสำแดง แก้ลมจุกเสียด กระทุ้งพิษไข้ แก้พิษฝีภายใน
แก้ เสมหะ
2. ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมและเครื่องสำอางต่าง ๆ
3. กรดซิตริกที่อยู่ในมะกรูด ช่วยขจัดคราบสบู่ที่หลงเหลืออยู่ ทำให้ผมหวีเรียบง่าย น้ำมันจากผิวมะกรูดช่วยให้ผมดกเป็นเงางาม
4. ใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร ดับกลิ่นคาวของอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงต่าง ๆ