สิทธิมนุษยชน (Human Right) หมายถึง สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการกระทำที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ โดยได้รับการ คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
1. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) หมายถึง คุณสมบัติ จิตใจ สิทธิเฉพาะตัวที่พึงสงวนของมนุษย์ทุกคน และรักษาไว้มิให้บุคคลอื่นมาล่วงละเมิดได้ การถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองและได้รับความยุติธรรมจากรัฐ
2. สาเหตุที่มนุษย์ต้องได้รับความคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เกิดจาก
1. มนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วย่อมมีสิทธิในตัวเอง
2. มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
3. มนุษย์มีเกียรติภูมิที่เกิดมาเป็นมนุษย์
4. มนุษย์ทุกคนเกิดมามีฐานะไม่เท่าเทียมกัน
3. หลักการสำคัญที่สุดของสิทธิมนุษยชน คือ มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ และกำหนดให้รัฐบาล ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐดำเนินการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคน
4. การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
1. สังคมไทยเป็นสังคมที่ต่างเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จนกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวในความเป็นไทยโดยไม่มีการแตกแยก ยอมรับความหลากหลาย มีจิตใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน จึงไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องการแบ่งชนชั้น หรือเผ่าพันธุ์ แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังปรากฏอย่างต่อเนื่อง เช่น การละเมิดสิทธิเด็ก เช่น การละเมิดทางเพศ แรงงาน ยาเสพติด อบายมุข ความรุนแรงในการลงโทษ การละเมิดสิทธิสตรี ในสังคมไทยยังปรากฏการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงในครองครัว ความรุนแรงทางเพศในที่สาธารณะ ที่บ้าน ที่ทำงาน สถานกักกัน การล่อลวงทางอินเตอร์เน็ต โรงภาพยนตร์ บนรถเมล์
2. การเข้ามามีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน บุคคลควรมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนใน สังคมไทยต่อไปนี้
1. ศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่พัฒนาความรู้ ทักษะ ค่านิยมในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
2. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของตนเอง บุคลิกภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่
3. มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชาติบ้านเมืองอย่างมีอิสรเสรีภาพ
4. ใช้สิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมให้มีประสิทธิภาพ
5. ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
องค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มีดังนี้
1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2. ศาลต่าง ๆ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร
3. มูลนิธิเพื่อพัฒนาเด็ก
4. มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ
5. มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
6. มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี
องค์กรสิทธิมนุษยชน ระดับโลก
1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 2. กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF)
ศาลในปัจจุบันจึงมีบทบาทในการให้ความยุติธรรมในด้านสิทธิมนุษยชน เช่น
1. การคุ้มครองผู้เสียหายตามกฎหมาย
2. สิทธิของพยานในคดีอาญาที่จะได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติที่เหมาะสม
3. ข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาไม่มีความผิด
4. การจัดและคุมขังบุคคลใด ๆ ในคดีอาญาจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งหรือหมายศาล ยกเว้นการกระทำผิดซึ่งหน้า
5. สิทธิของผู้ต้องหาในการให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนไว้หลายประการ ดังนี้
1. ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
2. ความเสมอภาคของบุคคล
3. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
4. สิทธิของผู้ต้องหา
5. สิทธิของพยานและผู้เสียหายในคดีอาญา
6. สิทธิของเด็ก
7. เสรีภาพในการนับถือศาสนา
8. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
9. เสรีภาพทางการศึกษา
10. สิทธิในทรัพย์สิน
11. สิทธิในบริการสาธารณสุข 12. สิทธิของคนพิการหรือทุพพลภาพ และของคนชรา
13. สิทธิของผู้บริโภค 14. สิทธิของชุมชนท้องถิ่น
15. เสรีภาพในการรวมกลุ่ม 16. สิทธิในการรับรู้และมีส่วนร่วม
17. สิทธิในการร้องทุกข์และฟ้องคดี 18. สิทธิและเสรีภาพอื่นๆ
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
วันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1948 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Right: UDHR) โดยสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ถือเป็นการกำหนดมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
สิทธิเด่น ๆ ที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
สิทธิต่อชีวิต เสรีภาพและความปลอดภัยของบุคคล การศึกษา เสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา เสรีภาพแห่งความคิดเห็น การแสดงออก การมีงานทำ การแสวงหาและได้รับการลี้ภัย ในประเทศอื่น (เป็นต้น)
วันแห่งสิทธิมนุษยชนโลก ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม
หน่วยงานในสหประชาชาติ (UN) ที่รับผิดชอบปัญหาสิทธิมนุษยชน (HR) คือ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน ที่เจนีวา ( ชื่อเดิมคือ Centre for Human Rights) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของไทย
ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญา ด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งสหประชาชาติถือเป็น สนธิสัญญาหลัก จำนวน 5 ฉบับได้แก่
1. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
2. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
4. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ