Trend อนาคตของโลกเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร
ข้อมูลการวิเคราะห์ของ IBM มาแชร์ว่า Trend อนาคตของโลกเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร ซึ่งไอบีเอ็มเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปี “IBM 5 in 5” แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมที่มีแนวโน้มเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการทำงาน และการติดต่อสื่อสารของเราในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า ไอบีเอ็มคาดว่านวัตกรรมทั้ง 5 นี้จะมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ซึ่งได้แก่
1) ห้องเรียนจะรู้จักนักเรียน ในอนาคตอันใกล้นี้ห้องเรียนจะรู้จักนักเรียนแต่ละคนจากข้อมูลประจำตัวต่างๆ เช่น ผลการสอบ การเข้าเรียน และพฤติกรรมการเรียนผ่านอีเลิร์นนิ่ง โดยเมื่อข้อมูลทั้งหลายได้รับการวิเคราะห์เชิงลึก
ซึ่งผู้สอนจะสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่านักเรียนคนใดมีปัญหา หรือค้นหาว่าอะไรคือข้อบกพร่อง รวมไปถึงเสนอหลักสูตรที่เหมาะสมกับเป้าหมายของนักเรียนแต่ละคนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงเข้าทำงาน ซึ่งขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มเริ่มโครงการแรกร่วมกับโรงเรียน Gwinnett County Public Schools ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 14 ของอเมริกา ในการวิเคราะห์เพื่อออกแบบเนื้อหาและเทคนิคการสอน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพทางการศึกษาของนักเรียนราว 170,000 คนและเพิ่มอัตราการสำเร็จการศึกษา
2) การชอปปิ้งที่ร้านจะกลับมาชนะการชอปปิงออนไลน์ แม้ยอดการช้อปปิ้งออนไลน์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแตะ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา แต่ในอนาคตการชอปปิงตามห้างร้านจะกลับมาคึกคักอีกครั้งโดยอาศัยความรวดเร็วและความใกล้ชิดกับลูกค้าเป็นข้อได้เปรียบ ในอีก 5 ปีข้างหน้าร้านค้าจะใช้เทคโนโลยีที่มีความสามารถในการประมวลผลขั้นสูงจากข้อมูลมหาศาลมาช่วยให้ผู้ขายมีความเชี่ยวชาญในสินค้าทุกชิ้นของร้าน
เมื่อประกอบกับข้อมูลพฤติกรรมการซื้อและข้อมูลย้อนหลังต่างๆที่ถูกประมวลขึ้นมาผ่านอุปกรณ์โมบาย ผู้ขายจะรู้จักลูกค้าทันทีเมื่อลูกค้าก้าวเข้ามาในร้านเสมือนนำประสบการณ์การชอปปิงออนไลน์มาไว้ในที่ซึ่งลูกค้าสามารถจับต้องสินค้าได้ จึงช่วยขยายประสบการณ์การจับจ่ายของลูกค้าและทำให้ร้านค้าสามารถสนองตอบความต้องการของลูกค้าแต่ละบุคคลได้ตรงใจ (ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่น่าจะได้เปรียบ ความเห็นส่วนตัวของผมเอง)
3) หมอจะใช้ดีเอ็นเอของผู้ป่วยในการรักษา โรคมะเร็งคร่าชีวิตคนทั่วโลกถึงปีละ 8.1 ล้านคน หากการบำบัดรักษาได้รับการออกแบบให้เหมาะสมจากการวิเคราะห์เชิงลึกถึงดีเอ็นเอ ข้อมูลทางพันธุกรรม รวมถึงการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย จะสร้างความแม่นยำและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากยิ่งขึ้น
ในอีก 5 ปี ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและการประมวลผลขั้นสูง คลาวด์คอมพิวติ้ง ผนวกกับการศึกษาทางพันธุกรรม จะช่วยให้หมอวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดมะเร็งและออกแบบการรักษาได้เฉพาะเจาะจงต่อผู้ป่วยแต่ละคนทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งเทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบคลาวด์-เบสยังจะช่วยให้หมอเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการรักษาได้อย่างกว้างขวาง (กลุ่มโรงพยาบาลคงต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีนี้ – ความเห็นส่วนตัวผม)
4) ผู้คุ้มครองดิจิตอลจะปกป้องคุณในโลกออนไลน์ ในปี 2012 รวมผู้เสียหายจากมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ในอเมริกาเพียงประเทศเดียวมียอดถึง 12 ล้านคน การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ที่เคยใช้เช่น พาสเวิร์ด โปรแกรมป้องกันไวรัส และไฟร์วอลล์ จึงอาจไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะวิธีดังกล่าวเป็นการป้องกันการคุกคามที่เรารู้จักมันมาก่อนและสามารถหาหนทางในการป้องกันได้แล้ว
ในอนาคตเราจะมีผู้คุ้มครองดิจิตอลดูแลแต่ละคนเพื่อลดความเสี่ยงในการท่องโลกออนไลน์ โดยผู้คุ้มครองดิจิตอลนี้จะใช้เรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของเราทุกบริบท แต่ละสถานการณ์ ในทุกอุปกรณ์การเชื่อมต่อ ดังนั้นมันจะรู้ว่ากิจกรรมใดสมเหตุสมผลและอันใดที่ไม่ใช่ จากนั้นมันให้คำแนะนำกับเราได้ว่าควรทำอย่างไรเมื่อเกิดกิจกรรมที่ไม่น่าไว้ใจ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มใช้เทคโนโลยีที่สามารถเรียนรู้ได้เองนี้ในการเข้าใจพฤติกรรมการเชื่อมต่อสู่โลกออนไลน์จากอุปกรณ์มือถือ เพื่อสืบหาทุกๆความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดจนวิธีในการป้องกันที่ครอบคลุมและสมบูรณ์ต่อไป
5) เมืองจะตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัย จากการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 คน 80% จะอาศัยในเมืองใหญ่ ในประเทศที่กำลังพัฒนา และในปี 2050 ประชากร 7 ใน 10 คน จะเป็นผู้อยู่อาศัยในเมือง เมืองอันชาญฉลาดในอีก 5 ปีข้างหน้าจะรับรู้เหตุการณ์นับล้านที่เกิดขึ้นในเมืองแบบเรียลไทม์ เข้าใจว่าคนต้องการอะไร ชอบหรือไม่พอใจอะไร รวมถึงพวกเขาใช้เส้นทางกันอย่างไร
โดยข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากผู้อยู่อาศัยเองจากทั้งอุปกรณ์มือถือและการปฏิสัมพันธ์ในโลกโซเชียลต่างๆ ดังนั้นผู้นำของเมืองจะตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นว่าเมืองต้องการอะไร ที่ไหนและเมื่อไร ทำให้การพัฒนาเมืองสนองตอบความต้องการของผู้คนจริงๆ อีกทั้งยังสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในเมืองและผู้นำอีกด้วย ดังจะเห็นตัวอย่างจากเมืองในหลายๆ ที่ที่ไอบีเอ็มร่วมมือด้วย เช่น เมืองในบราซิลที่ใช้ความสามารถของคราวด์ซอร์สซิ่ง (Crowdsourcing) ที่เปิดโอกาสให้พลเมืองแจ้งปัญหาผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยเตือนภัยคนพิการถึงความไม่สะดวกในการเดินทางบนท้องถนนของเมือง หรือในประเทศอูกันดา ที่ยูนิเซฟร่วมมือกับไอบีเอ็มเพื่อสร้างเครื่องมือสื่อสารในโซเซียลแพทฟอร์ม เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้สื่อสารกับรัฐบาลและผู้นำชุมชนถึงปัญหาที่ส่งผลกับการดำเนินชีวิต