แบ่งตามการทำหน้าที่ เป็นใยประสาท 2 ชนิด คือ เดนไดรต์และแอกซอน
เดนไดรต์ (dendrite) คือ ส่วนของใยประสาทที่ทำหน้าที่รับการกระตุ้นของสิ่งเร้า ทั้งสิ่งเร้าจากภายนอกและจากเซลล์ประสาทอื่นๆ เดนไดรต์มีหลายเส้น ลักษณะเป็นเส้นใยที่แตกแขนงสั้นๆ โดยทั่วไปเป็นใยประสาทที่นำกระแสประสาทในทิศทางเข้าสู่ตัวเซลล์
แอกซอน (Axon) คือ ส่วนของใยประสาทที่ทำหน้าที่นำกระแสประสาทออกจากบริเวณเดนไดรต์ ไปสู่เซลล์อื่นๆ โดยทั่วไปแอกซอนมีเส้นเดียว ลักษณะเป็นเส้นใยยาวมาก มีส่วนปลายที่แตกแขนงเล็กน้อย ความยาวของเซลล์ประสาทมากจากความยาวของแอกซอน เช่น เซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่นิ้วเท้าเซลล์หนึ่งมีตัวเซลล์ขนาด 0.1 มิลลิเมตร มีแอกซอนยาวเป็นเมตรไปถึงไขสันหลัง
ตำแหน่งของตัวเซลล์ ในเซลล์ประสาททั่วไป ตัวเซลล์อยู่ระหว่างแอกซอนกับเดนไดรต์ กล่าวคือ มีแอกซอนอยู่ด้านหนึ่งและเดนไดรต์อยู่ด้านตรงข้ามของตัวเซลล์ แต่เซลล์ประสาทมีชนิดและหน้าที่ต่างๆ กันมากมาย พบว่าตำแหน่งของตัวเซลล์อาจอยู่ที่ช่วงไหนของใยประสาทก็ได้ ตัวอย่างเช่น เซลล์ประสาทรับความรู้สึกเซลล์หนึ่งของผิวหนัง มีตัวเซลล์ยื่นออกมาจากแอกซอน
จำนวนและความยาวของใยประสาท ขึ้นอยู่กับชนิดและหน้าที่ ของเซลล์ประสาทเช่นกัน ใยประสาทมีลักษณะเป็นเส้นละเอียดบางๆ เหมือนกัน แต่มีขนาดความยาวต่างกันมาก อาจยาวตั้งแต่ไขสันหลังจากปลายเท้า (ประมาณ 1 เมตร) ในขณะที่เซลล์ประสาทประสานงานสมองและไขสันหลังมีใยประสาทขนาดเล็กและเรียง อัดแน่น-แอกซอนที่อยู่ภายนอกระบบประสาทกลาง มีเยื่อหุ้มเป็นสารไขมันเรียนกว่า ไมอีลิน ( myelin sheath ) ซึ่งมีต้นกำเนิดเป็นเยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์ชวานน์ ( Schwann cell ) ที่ล้อมรอบแอกซอนอยู่ และทำหน้าที่ให้อาหารแก่เซลล์ประสาท แอกซอนมีเยื่อไมอีลินหุ้มอยู่เป็นช่วงๆจุดที่ไม่ถูกหุ้มเรียกว่า โนดออฟแรนเวียร์ ( node of Ranvier)
แอกซอนที่อยู่ภายในระบบประสาทกลาง มีเยื่อหุ้มไมอีลิน สร้างจากเซลล์ เรียกว่า นิวโรเกลีย ( neuroglia ) ทำหน้าที่ป้องกันและหล่อเลี้ยงเซลล์ประสาทในสมอง