การแข่งเรือพิมาย
ช่วงเวลา หลังวันออกพรรษา แต่ไม่เกินวันเพ็ญเดือนสิบสอง
ความสำคัญ
การแข่งเรือเป็นรูปแบบของการเล่นในฤดูน้ำหลากที่สร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน และคนต่างหมู่บ้านได้พบปะกัน เป็นการสร้างความสมานสามัคคีของสังคมได้ทางหนึ่ง
พิธีกรรมที่ปฏิบัติ
แต่เดิมแข่งที่ท่าน้ำบ้านวังหิน ต่อมาย้ายมาแข่งที่ลำตลาด ซึ่งอยู่ที่อำเภอพิมาย โดยจัดต่อเนื่องกันทุกปีจนถึงปัจจุบัน แต่เดิมเมื่อแต่ละหมู่บ้านทราบกำหนดการแข่งเรือล่วงหน้าก็จะฝึกซ้อมฝีพาย ซึ่งเป็นชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านจนชำนาญ เมื่อใกล้ถึงวันแข่งเรือจะนำขึ้นมาขัดท้องเรือด้วยใบตองแห้ง เสร็จแล้วทาสีและลวดลายที่เรือและใบพาย แล้วทำพิธีไหว้เซ่นแม่ย่านางเรือเสร็จแล้วลากเรือลงน้ำฝีพายลงเรือโห่เอาฤกษ์เอาชัย เรือแข่งของแต่ละหมู่บ้านจะมาพร้อมกันที่บริเวณสถานที่แข่งขันเมื่อพระฉันจังหันแล้ว เมื่อได้เวลาเจ้าหน้าที่จะให้เรือแต่ละลำพาย แสดงตัวตามลำดับ ซึ่งจะเรียกชื่อตามที่มาถึงก่อนหลังตามชื่อเรือ เช่น มุนีจอมขวัญ เสมียนเสนาะเพราะสนั่นหมื่นสะท้านแผ่นดินไหว เป็นต้น เมื่อครบจำนวนแล้วจับสลากคู่แข่งกันในแต่ละ
ประเภท โดยกำหนดที่ฝีพายเป็นเรือขนาดใหญ่ กลาง เล็ก แข่งขันจนกว่าจะได้เรือที่ชนะเลิศของแต่ละรุ่น ซึ่งขณะแข่งขันผู้ชมการแข่งขันสองฟากฝั่งจะโห่ร้องเมื่อเรือหมู่บ้านของตนได้รับชัยชนะเป็นที่สนุกสนาน ปัจจุบันการแข่งขันเรือพิมาย ได้พัฒนาการแข่งเรือแบบพื้นบ้านมาเป็นการแข่งเรือแห่งประเทศไทย และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลเที่ยวพิมายในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
สาระ
๑. ได้สืบทอดภูมิปัญญาและการช่างฝีมือ ในการสร้างเรือ การดูแลรักษา
๒. เป็นกระบวนการสร้างพลังสามัคคี การเกาะเกี่ยวทางสังคม อย่างแน่นแฟ้น
๓. ได้รักษาและสืบทอดประเพณีท้องถิ่นที่ดีงามให้คงไว้กับชุมชน