วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555
สุข ทุกข์ ตัวเดียวกัน
หลายคนบอกว่า ความสุข กับ ความทุกข์ เป็นสิ่งตรงข้ามกัน ความรู้สึกก็ไม่เหมือนกัน และก็ไม่มีใครเลือกเป็นทุกข์ ทุกคนชอบและขวนขวายให้ได้ความสุขมาเป็นของตัวเองกันทั้งนั้น แต่น้อยคนที่จะมองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งว่า แท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ก็คือตัวเดียวกัน ที่เรามองเห็นว่าสุข ที่จริงก็คือความทุกข์ที่ได้รับการตอบสนอง ทำให้ความทุกข์ที่เคยมีนั้นลดน้อยลง ทุกๆ อย่างมีเหตุผลเป็นตัวที่ทำให้เกิดขึ้น
ตัวอย่างง่ายๆ เวลาที่ร่างกายต้องการพลังงาน เกิดอาการหิวก็ต้องกิน ความหิวคือความรู้สึกทุกข์ เมื่อหาอาหารมากินจนอิ่ม เท่ากับว่า ได้บำบัดระงับความทุกข์นั้น แต่คนเรามักมองไม่ออกหรือไม่ทันคิด จึงคิดเอาเองว่า กินเพื่อความสุข แต่ที่จริงความสุขจากการกิน มันอร่อยแค่ตรงลิ้น พอกลืนลงคอไปแล้วความอร่อยก็ถูกกลืนไปด้วย ที่เรารู้สึกว่าเป็นสุขจังอร่อยจัง ก็เพราะความทุกข์ ความหิว ความอยาก มันได้รับการบำบัดไปชั่วขณะหนึ่ง จึงรู้สึกสบายขึ้น จนพาลหลงกันไปว่า เรามีความสุข พอสักพักเมื่อความทุกข์มันก่อตัวขึ้นมาอีก เช่น เริ่มหิวขึ้นมาอีก หรือไม่หิว แต่ไปเจออาหารที่ดูน่าทาน หรือได้ยินคนอื่นชื่นชมว่าร้านนั้นร้านนี้อร่อย เราก็เกิดความอยากขึ้นมาอีก เราก็จะวิ่งหาสิ่งนั้นมาบำบัดอีก ที่เราเข้าไปติดใจมัน เพราะเรากำลังติดความรู้สึกที่คิดปรุงแต่งไปตามความต้องการของเราเอง แม้บางคนจะบอกว่า ความอยากของเค้าก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร เพราะมีปัจจัย (เงิน) พร้อมแลกเอาความรู้สึกเป็นสุขมา แต่ถ้าเราลองแยกแยะความเป็นจริงโดยใช้สติและปัญญา เราก็จะเข้าใจและรู้จักความพอดี พอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่หลงทางไปกับอำนาจของกิเลสที่จะวนไปวนมาไม่สิ้นสุด
พระอาจารย์ ว. วชิรเมธี กล่าวว่า เราจะบริโภคปัจจัยสี่ ด้วยคุณค่า 2 คุณค่า คือ หนึ่ง คุณค่าแท้ สองคุณค่าเทียม คุณค่าแท้ก็คือประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้น ส่วนคุณค่าเทียม คือประโยชน์แฝงของสิ่งเหล่านั้น พระพุทธศาสนาสอนให้เราใช้ชีวิตอยู่กับคุณค่าแท้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ยานพาหนะ บ้าน ฯลฯ
เช่น เรามีรถ คุณค่าที่แท้จริงของรถ คือใช้เป็นยานพาหนะ ส่วนคุณค่าเทียมของมันก็คือ ยี่ห้อนี้เป็นรุ่นที่ถ้าเรานั่งแล้วตำรวจไม่กล้าจับ หรือขับแล้วจากหน้าตาที่ดูธรรมดาๆ ก็กลายเป็นสวย-หล่อขึ้นมาได้ในสายตาคนอื่น ที่พูดมานี้ ไม่ได้หมายความว่า การใช้ของแบรนด์เนมเป็นเรื่องผิด ใช้ได้ ถ้าเรามีกำลังซื้อและไม่ไปเบียดเบียนใคร แต่การที่จะใช้ชีวิตอยู่บนโลกโดยไม่รู้จักการใช้ชีวิต โดยคำนึงถึงประโยชน์หรือคุณค่าที่แท้จริงของทุกสิ่งทุกอย่าง จะทำให้เราเปลืองเวลา เปลืองพลังงานทางความคิดไปกับวัตถุ จนกระทั่งไม่มีเวลาทำอะไรเลย
ในหลวงของเรา ทรงใช้นาฬิกายี่ห้อใส่แล้วโก้ 40 ปี ท่านไม่เปลี่ยนยี่ห้อ ไม่ใช่ไม่เปลี่ยนเครื่อง แต่ท่านยังใช้ยี่ห้อเดิมตลอด ที่ไม่เปลี่ยนก็เพราะพระองค์เห็นว่ายี่ห้อนี้ใช้อย่างนี้มันมีประโยชน์มาก ทรงคำนึงถึงประโยชน์เป็นหลัก ไม่ได้ตามแฟชั่น ท่านจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ชีวิตตามความจำเป็น ไม่ใช้ชีวิตตามความพอใจ
สุขหรือทุกข์ เป็นผลจากสิ่งที่เราสมมุติขึ้นมา สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันก็เป็นของมันอย่างนั้น แต่เราเองต่างหาก ที่เป็นคนใส่ความรู้สึกลงไป ถ้าสิ่งนั้นหรือเหตุการณ์นั้น เราชอบ เราถูกใจ หรือเป็นไปตามที่คาดหวัง ก็คือความสุข
ในทางกลับกัน เราไม่ชอบ ไม่ได้ดั่งใจ ความทุกข์ก็จะบังเกิดขึ้นในใจเราทันที เพราะฉะนั้น จะสุขหรือทุกข์ เป็นผลจากสิ่งที่เราเลือกมอง เหมือนกระดาษแผ่นใหญ่สีขาวที่มีจุดสีดำๆ ปรากฎอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังเป็นพื้นที่สีขาว ก็อยู่ที่ว่าเราจะเลือกมองแต่จุดสีดำๆ หรือพื้นที่สีขาวมากกว่ากัน